วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เขียนบท อย่างไร ให้โดนใจคนดู -- ชิงชัง


ช่วงนี้ชอบละครพีเรียดจังเลย
หนึ่งในความฝันคืออยากเป็นคนเขียนหนังสือ
ทั้งเรื่องสั้น บทละคร
ที่ชื่นชมตอนนี้ก็มี
คุณ ปราณประมูล(มาลัยสามชาย), คุณศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ (ชิงชัง)

มาจะตัดบทไปที่ละคร เรื่องชิงชัง
กลับมาดูอีกครั้ง เนื้อเรื่องเข้มข้น กระชับ
มีหลายมุมมองให้แง่คิด
ที่สำคัญ บทมันจะบีบหัวใจคนดูมากไปไหน

ใครไม่รู้จักละครเรื่องนี้ลองไปดูตามลิ้งข้างล่างนี้ได้เลย


คราวนี้ก็เลยสนใจคนเขียนบทเรื่องนี้จัง
ตามไปดูบทสัมภาษณืเค้ากัน


“ละคร” เรื่องมายาที่แฝงอยู่กับชีวิตจริงแทบแยกไม่ออก 
ทั้งตลก น้ำเน่า รัก บู๊ ละครจะดีหรือไม่คนเขียนบท ผู้กำกับ นักแสดง ต่างรับภาระหน้าที่หนักไม่แพ้กัน และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าละคร“ชิงชัง” ที่ใกล้เพิ่งจบไปนั้น คือละครพีเรียดเรื่องหนึ่งที่ถูกกล่าวขวัญและมีเรตติ้งระดับต้น และคำถามมากมายที่เกิดจากละครเรื่องนี้ อีกทั้งเรื่องราวชีวิตคนเขียนบท ที่ M-Open จะพาไปรู้จักกับ “ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์” ผู้ควบคุมบทโทรทัศน์ของค่ายเอ็กแซ็กท์ และผู้เขียนบทละครชิงชัง
       
       
       “เราเคยซื้อเรื่องตาลีบุหงา ก็มีน้องคนหนึ่งเขาส่งมา 2 หน้าเอสี่ อันนั้นก็ซื้อแล้วนะ แต่หมายถึงว่ามูลค่าของมันก็ต่างกันในแง่ของค่าตอบแทน ให้ต่อมไอเดียเราก็ซื้อมาพัฒนา แล้วก็ค่าลิขสิทธิ์หรือว่าเงินที่จะได้ก็ต่าง แล้วแต่ของเอามาทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่ในส่วนของชิงชังเราคือคนเขียนบท มันจะมีบางเรื่องที่เราต้องเขียน เขียนเองจะตรวจตัวเองไม่ได้ เราคือคนควบคุมบทเราต้องไม่เขียน (หัวเราะ) แต่อย่างชิงชัง มันคือพีเรียด มีตัวละครเยอะ แล้วเรื่องมันเป็นดรามา ใช้เด็กเขียนไม่ได้ ตอนแรกนักเขียนผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจะเขียนพอดีมีปัญหาเรื่องการจัดการนิดหนึ่งแต่เราต้องเปิดชิงชัง แต่เราหาใครไม่ได้ ไม่มีใครเขียนแล้ว เพราะว่ามันเลื่อนออกมา”


       บทตอนที่ 1 …“ชิงชัง” ชิ้นงานจาก “คนควบคุมบท”
      
       หน้าที่เลือกบทประพันธ์ และควบคุมบท ของ “ลักษณ์” หรือ “ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์” หน้าที่โดยหลักคือเลือกมาจากความสนุก โดยจะมีบรรดาผู้เขียนบทส่งเรื่องมาที่บริษัท แล้วเธอก็มีหน้าที่คัดสรร เสนอผู้บริหารต่อไป แต่เพราะความจำเป็น ละครเรื่องชิงชัง ต้องเลื่อนขึ้นมาถ่ายทำเร็วขึ้น จึงทำให้ลักษณ์ ต้องลงมือเขียนเอง และหน้าที่ของเธอ คือดูแลให้บทสนุกรวมไปถึงพิจารณาเนื้อหาว่าแรงไปหรือไม่
      
       “ขั้นตอนการทำงานมันมีเยอะ สมมติว่าเราซื้อนิยายมา เรามีพล็อต หน้าที่ของเราคือทำละคร มันต้องมาดูว่าเราจะพัฒนาเรื่อง เราจะเล่าแบบไหน เราจะทำเป๊ะๆ ตามบทประพันธ์เลยมั้ย หรือเราจะดัดแปลง เราจะตีความใหม่ แล้วเจ้านายของเราอีกคนหนึ่งคือพี่ป้อน (นิพนธ์ ผิวเณร) ว่าอย่างไร พอเราชัดเจนแล้วว่าไปทางไหน ก็หาคนเขียนบทที่เหมาะสม บางทีก้ทำงานเหมือนเซ็นเซอร์ ถ้าเรื่องล่อแหลม หยาบ หรือแรงก็ต้องดู อีกหน้าที่หนึ่งคือเลือกซื้อบทประพันธ์หรือพล็อต สมมติว่าถ้ามีใครอยากจะส่งบทประพันธ์ก็จะส่งมาที่โต๊ะเรานี่แหละ อันไหนที่ใช้ได้เราก็เสนอนาย”
       

      
       บทตอนที่ 2 …“ดัดแปลง” แต่ไม่ “ทำร้าย” บทประพันธ์
      
       หลายคนดูละครแล้วไม่เหมือนในบทประพันธ์ หรือนิยายที่มีให้แต่ดั้งเดิม นั่นแปลว่าเมื่อถูกนำมาเขียนเป็นบทโทรทัศน์ ผู้ตรวจบทอย่าง “ลักษณ์” บอกว่า บทโทรทัศน์อาจต้องมีการดัดแปลง เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและด้านโปรดักชัน แต่ในการดัดแปลง จรรยาบรรณอย่างหนึ่งคือการไม่ทำร้ายบทประพันธ์จนเสียแก่นของเรื่อง
      
       “เราต้องบอกกับเจ้าของบทประพันธ์ค่ะว่าเราจะดัดแปลงอย่างไรบ้าง จริงๆ แล้วถ้าเป็นที่เอ็กแซ็กท์ไม่ว่าเราจะเขียนเอง หรือคนอื่นเขียน เราให้อิสระร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราจะคุยกับเจ้าของบทประพันธ์เลย ถ้าซื้อมาทำจะปรับนะคะ เพราะว่ามีนักเขียนบางท่านเขาชอบให้งานเขาเป็นแบบนั้น เขาไม่แคร์ ไม่ต้องเป็นละครโทรทัศน์ก็ได้ เขาไม่ขายก็มี แต่อย่างเรื่องหัวใจศิลา ที่เป็นของคุณอาริตา ที่บี้เล่น อันนั้นก็ปรับเยอะ แต่เราชี้แจงเขาว่าแก่นมันยังไม่หายไป สาระสำคัญยังอยู่ เขาโอเค”
      
       “บางอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามบทประพันธ์ อย่างกรณีชิงชัง บอกเลยว่าก็ไม่ได้จบตามบทประพันธ์ เพราะว่าในบทประพันธ์พี่ยอดก็กลับไปใช้ชีวิตใหม่เป็นชลาชล ไม่มีใครต้องการอยู่ด้วยกัน เขาบรรลุแล้วว่ามีรักแล้วมีทุกข์ ละครประโลมโลกหลังข่าวลุ้นมาขนาดนั้น ต่างคนต่างบวชเนี่ยไม่ได้ แต่ในบางกรณี ตอนทำเลือดขัตติยา มีคนบอกว่า พี่ติ๊ก (เจษฎาภรณ์ ผลดี) ไม่ตายได้มั้ย อันนี้ไม่ได้ เพราะว่าคุณต้องรู้ว่าถ้าคุณบิดตรงนี้ คุณทำลายแก่นของบทประพันธ์เขา พระเอกต้องเสียสละด้วยชีวิตของตน อันนี้ จะเห็นแก่คนดูจนทำร้ายบทประพันธ์ไม่ได้”
      
       บทตอนที่ 3 ...ความซาดิสต์ของบท คือเสน่ห์ละครเอ็กแซ็กท์!
      
       ละครหลายเรื่องของค่ายเอ็กแซ็กท์ รวมไปถึงซีเนริโอ เป็นที่กล่าวขวัญของคอละครหลายกลุ่มว่าละครค่ายนี้ ทรมานใจคนดูเหลือเกิน ทั้งพระเอกตาย นางเอกป่วย ญาติพี่น้องมารักกันเอง หรือแม้กระทั่งสามีเป็นเกย์ หลากหลายเรื่องราวที่ทำให้คนดูลุ้น จนผู้คุมบทยอมรับว่าบางครั้งการเล่นกับความรู้สึกของคนดูทำให้ “อิน” จนเกิดกระแสในสังคม
      
       “จริงๆแล้ว สงสารนายนะ คุณบอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) ไม่เคยก้าวก่ายเรื่องบทโทรทัศน์ ไม่ลงมาถึงว่าตอนตรงนี้ ต้องหมุนขวดน้ำพริกนานๆ นะ เขาก็ไม่เกี่ยว (ยิ้ม) เขาจะดูอยู่ห่างๆ เริ่มต้นโปรเจกต์เวลาเราเลือกนักแสดงขึ้นไปนำเสนอจะมีความเห็นตรงนั้น เขาจะคอมเม้นต์กว้างๆ รวมๆ ระวังตรงนั้นเครียดไปนะ”
       

       “ ถ้าถามบทแนวนี้ว่าเป็นสไตล์ของเอ็กแซ็กท์มั้ย สงสัยจะใช่ เราชอบกันอย่างนี้ ส่วนหนึ่งเนี่ย เราเล่นกับอารมณ์คนดูค่อนข้างเยอะหลายเรื่อง มันสนุกดี (หัวเราะ) แต่เราคิดเอาเองหรือเปล่าก็ไม่ทราบว่าแฟนละครเอ็กแซ็กท์เนี่ย ชอบแบบนี้ ต้องเข้มข้น คือถ้าเรื่องไหนที่เรื่อยๆ เนี่ยเรื่องนั้นจะไม่ค่อยได้ บางทีมันก็ไม่ได้มาจากบท อย่างกรณีพลิกขวดน้ำพริก ต้องยอมรับว่าเบื้องหลัง บทต้นร่างแรกไม่มี แต่มันเกิดจากเราเขียนคิดว่าฉลากขวดน้ำพริก เผอิญว่าฝ่ายศิลป์เป็นเด็ก เขาคิดถึงผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ อิงก์เจ็ตชัดมาเลย มันเป็นไปไม่ได้ที่พระเอกจะเห็นแล้วจำไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไรล่ะ ก็เลยต้องปิด ต้องหมุนไม่เจอ (หัวเราะ) มันจะไม่ใช่เจตนาให้เรื่องยืดเยื้อ”
      
       บทตอนที่ 4 ...สุขแต่ไส้แห้งจริงหรือ!?
      
       ค่าตอบแทนของอาชีพคนเขียนบท สำหรับมุมมองของควรตรวจบท เธอยอมรับว่าเบื้องต้นของอาชีพนี้อาจลำบาก แต่หากละคร หรือบทที่เขียนติดตลาด อาชีพนี้ ให้ค่าตอบแทนสูงทีเดียว นอกจากนี้ความสุขอย่างหนึ่งคือการมีพื้นที่บอกเรื่องราวให้แก่คนดูและสังคม
      
       “ความสุขจริงๆ คือสุขตอนทำ เวลาเราเห็นบทดีๆ แนวความคิดดีๆ ในแง่ของประโยชน์ของสังคม เรามีแอร์ไทม์ได้คุยกับคนทั้งประเทศ แล้วถ้าเราได้พูดอะไรดีๆ แล้วมีคนได้ยินมันดีจังเลย มีบางกระทู้หลังดูชิงชังตอนผู้ใหญ่แก้วยังอยู่ ดูแล้วคิดถึงพ่อ เดี๋ยวอาทิตย์นี้จะไปหาพ่อสักหน่อย เห็นแบบนี้แล้วชื่นใจนะ อย่างน้อยมันทำให้คนรู้สึกว่าบวกนะ ได้แง่คิดดีๆ เราก็ชื่นใจ อันนี้สุขที่สุดเลย”
      
       “เมื่อก่อนมีคนบอกว่าอาชีพแบบนี้จะไส้แห้ง จะบอกว่าในความรวมนะ อาชีพที่เขียนบทโทรทัศน์เป็นอาชีพที่รายได้ดีมาก ในวงเล็บถ้าคุณทำได้ เราพูดกับน้องเขียนบทว่าเราเหมือนดารา จริงๆ นะ คือถ้าคุณประสบความสำเร็จสักหนึ่งเรื่องจะมีงานเข้ามาเต็มไปหมด แล้วคุณเรียกราคาเท่าไหร่ก็ได้ แต่ถ้าคุณเจ๊งสักเรื่องเดียว งานจะหายหมด”
      
       “เอ็กแซ็กท์เราจ่ายตอนที่บทผ่าน เราอ่านปุ๊บไม่มีอะไรให้แก้ โอเค ส่งตอน 2 มาก็จะจ่ายกันแล้วแต่ตกลง ที่ไม่ให้เข้ามารับเช็คบ่อยๆคือเราจะจ่ายทีละ 3 ตอน ตามมาตรฐาน 3 ตอน 2 อาทิตย์ก็เก็บตังค์ได้แล้ว ราคาก็ตามคุณภาพของงาน บอกได้ว่าบทเนี่ย ราคาอยู่ที่ต่อชั่วโมง มีตั้งแต่ 6 พันบาทต่อชั่วโมง ถึง 28,000 บาทต่อชั่วโมง"
       " ถ้าอยากจะเขียนบทโทรทัศน์ ต้นทุนที่มาเนี่ยต้องเป็นคนชอบดูหนังดูละคร เพราะว่าเจอมาเยอะ เด็กรุ่นใหม่ชอบเขียนหนังสือ มันไม่ใช่งานเขียนหนังสือ หรือนิยาย ถ้าไม่ชอบดูละครในหัวมันต้องคิดเป็นภาพเคลื่นไหว ไม่ใช่งานพรรณนา ถ้าไม่ชอบ ดูหนังดูละครจะพัฒนาได้ยาก เพราะฉะนั้นอีกอันหนึ่งคือต้องเป็นคนชอบเล่าเรื่อง แล้วเล่าได้สนุก ความรู้ด้านโปรดัคชั่นไม่จำเป็นเลย เพราะไม่ได้ช่วยให้คนเขียนบทเขียนสนุก คือถ้าไม่ชอบดูหนังเลยไม่ชอบตรงนี้โอกาสที่จะอยู่ตรงนี้ได้ดี ถามว่าต้องจบนิเทศฯมั้ยจบก็ได้ ไม่จบก็ไม่เป็นไร”
      
       บทตอนที่ 5 ...ได้คำชมคือ “ดารา” แต่โดนด่าคือ “คนเขียนบท”
      
       “นางเอกโง่ พระเอกงี่เง่า”...หลากหลายคำวิจารณ์ในตัวละคร ซึ่งบทมักจะโดนด่าด่านแรก แต่ในมุมมองของคนตรวจบท เชื่อว่าต้องหนักแน่นกับคำวิจารณ์ต่างๆ หากผิดก็แก้ไข และส่วนใหญ่คนที่ได้รับคำชมคือดารา ซึ่งคนเขียนบททุกคนต้องน้อมรับได้ในจุดนี้
      
       “เวลาดูละครแล้วมีคนด่าตัวละครว่าทำไมโง่อย่างนี้ คือต้องไม่หวั่นไหว ตอนสงครามนางฟ้า น้องบี (น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์) โทร.มาบอกว่าคนด่าเยอะมากเลยพี่ ยังบอกเลยว่า เออก็งี้แหละ มันเหมือนเราเป็นแม่ครัว บางทีเราต้องรู้ว่ามันต้องได้รสชาติแบบนี้ ฟังคนอื่นมากไม่ได้ ฟังบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าเจออะไรในกระทู้แล้วเอามาใส่งานหมด ฟังแล้วเอามากรองอีกที คนเขียนบทจะพูดกันขำๆ ว่าเป็นอาชีพที่น่าสงสาร ไม่เชื่อลองไปดูสิ เวลาละครสนุกคนจะบอกว่านักแสดงเล่นดีมาก ผู้กำกับทำดีจังเลย พอมีปัญหาปั๊บ ด่าว่าบทห่วย พอละครสนุกมาก จะมีแต่คนชมนักแสดง ถ้าเราผิดจริงก็น้อมรับ”
      
       บทตอนที่ 6 ...ทำละครไทยไม่ใช่เรื่องง่าย
       

       แม้ว่าละครของเครือเอ็กแซ็กท์จะไม่มีปัญหาเรื่องการดอง เพราะคู่แข่งใน ททบ.5 ไม่มีแม้แต่รายเดียว ต่างจากช่องอื่นสิ้นเชิง แต่ในการทำละครในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่ายของคนทีวีแม้แต่น้อย เมื่อสังคมและเทคโนโลยีเปลี่ยนไป
      
       “ทำละครยากขึ้นนะ คนดูถึงจุดอิ่มตัวในหลายๆด้าน เมื่อก่อนดูแล้วเรื่องนี้มาแล้วชัวร์บางทีตอนนี้คนดูละครอิ่มตัว คนดูมีทางเลือก มีแผ่นเครื่องเล่นวีซีดีถูกมาก ยูบีซีก็มี แต่เดี๋ยวนี้มันกระจายเลย ติดจานเยอะแยะ แผ่นก็ถูก ถ้าไม่สนุกก็ยัดแผ่นดูกับครอบครัว มันเลยแข่งกันเยอะ ต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมเ พื่อจะให้คนดูมาดูเรา นักแสดงก็ต้องตั้งใจ ไม่มีงานกินหมูแล้ว ถ้าไม่ถูกปากก็ไม่จำเป็นต้องกิน เมื่อก่อนคนไม่มีทางเลือก เปิดไป เหงาๆ เดี๋ยวนี้เยอะแยะ โหลดดูยูทิวบ์ก็ได้”
      
       ***


       “บทที่ดีต้องสนุก รู้เรื่อง เข้าใจง่าย แล้วก็มีความแมส มุกตลกส่วนตัว ตลกเฉพาะกลุ่ม ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเขาก็ไม่ดู คนตรวจบทต้องดูด้วยว่ามันสนุกมั้ย ทำตัวเป็นคนดู ละครโทรทัศน์ไม่เหมือนหนัง คนดูไม่ให้สมาธิกับมันมาก คุยโทรศัพท์ กินข้าว รีดผ้าไปด้วย เพราะฉะนั้น อย่าซับซ้อน”… บทที่ดี ในมุมมองของ “ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์”
         ประวัติ
       ชื่อ ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์
       เกิด สิงหาคม 2508
       การศึกษา ม.ปลาย จาก เตรียมอุดมศึกษา
       ปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       การทำงาน Script Director ทำหน้าที่คัดเลือกบทประพันธ์ให้กับค่ายละครเอ็กแซ็กท์ และล่าสุดกับผลงานเขียนบทละครเรื่องชิงชัง


ส่วนผู้ประพันธ์เรื่อง ชิงชัง คือ นามปากกาว่า จุฬามณี



ผมมีสามนามปากกาครับ จุฬามณี เฟื่องนคร ชอนตะวัน

ผลงานตีพิมพ์รวมเล่มแล้วดังนี้..

ชิงชัง,แจกันดอกหญ้า,ไม่ต้องรักเท่าฟ้า,สะบายดี..หัวใจ,แสงดาวไอดินอินเดีย,องค์การบริหารส่วนหัวใจ, หัวใจไม่ใช้เส้นขนาน และเรื่อง มีหมอกบางในตอนเช้า ที่กำลังจะเป็นเล่ม ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น รักเร่เสน่หา


x

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น