วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กลไกการสร้างเม็ดสี


กลไกการสร้างเม็ดสีเมลานิน





คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย



เราเคยสงสัยไหมว่าทำไมคนแต่ละคนมีสีผิวต่างกัน บางคนเคยขาวกลับคล้ำลงหรือในทางกลับกัน บางคนเคยผิวคล้ำๆ อยู่แต่ผ่านไปสักพักหนึ่งกลับผิวดูขาวขึ้น การที่เราจะเข้าใจได้ว่า ทำไมคนเราแต่ละคนจึงมีสีผิวแตกต่างกันหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิวได้ ก็จะต้องทำความเข้าใจในกระบวนการที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้เสียก่อน ซึ่งโดยหลักการแล้วความเข้มหรือสีของผิวนั้น ส่วนมากเกิดจากสิ่งที่เรียกว่าเม็ดสีเมลานิน (melanin) ซึ่งการจะมีสีคล้ำดำ หรือเป็นจ้ำๆ (ถ้าเป็นจ้ำ ไม่ว่าจะเป็นจ้ำสีแดง หรือสีดำคล้ำก็ตาม ก็กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ฝ้า" นั่นเอง) ก็ขึ้นกับว่าเม็ดสีเมลานินนี้เข้มขึ้นที่เรียกว่า เมลาโนเจเนสิส (melanogenesis) หรือกระบวนการเปลี่ยนแปลงเม็ดสีเมลานินนั่นเอง แล้วกระบวนการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ด้วยความรุนแรงเท่าใดล่ะ ถ้าเราสามารถเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้ ก็จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสีผิวที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่สามารถควบคุมสีผิวได้ดีขึ้นค่ะ



ในผิวหนังเรา จะประกอบไปด้วยเซลล์ผิวหนังชนิดหนึ่งในชั้นหนังกำพร้าที่เรียกว่า เมลาโนไซต์ (melanocyte) ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีจำนวนประมาณ 8% ของเซลล์ผิวหนังของชั้นหนังกำพร้า เซลล์นี้จะมีเม็ดสีที่เรียกว่า เมลานิน (melanin) อยู่ในถุงหุ้ม เมลาโนโซม (melanosome) ซึ่งเจ้าเซลล์เมลาโนไซต์จะส่งเม็ดสีเมลานินไปให้กับเซลล์ผิวหนังชั้นบนกว่าที่เรียกว่า คีราติโนไซต์ (keratinocyte - ผิวหนัง 90% จะประกอบไปด้วยเซลล์คีราติโนไซต์นี้) ทำให้เกิดเป็นสีของผิวหนังขึ้น



เม็ดสี เมลานิน (melanin) มีอยู่ 3 แบบ/สี คือ



1. ยูเมลานิน (eumelanin) เม็ดสีเมลานินชนิดนี้จะเป็นเม็ดสีสีน้ำตาล-ดำ คนเอเซียและคนที่ผิวคล้ำทั้งหลายจะมีเม็ดสีนี้มากกว่าคนที่เป็นชนชาติผิวขาว

2. ฟีโอเมลานิน (pheo-melanin) เป็นเม็ดสีสีแดงหรือที่เรียกว่า ออกซิฮีโมโกลบิน (oxyhemoglobin) หรือสีเหลือง ที่เรียกว่าแคโรทีน (carotene) อย่างที่เคยได้พูดถึงไปในบทความที่ผ่านมา ในคนผิวขาวจะมีเม็ดสีนี้มากกว่าคนผิวคล้ำ

3. แบบผสม คือมีเม็ดสีเมลานินทั้งสองแบบผสมกัน เรียกว่า mixed melanin



ซึ่งการผสมสีต่างๆ ของเม็ดสีต่างๆ เหล่านี้ออกมา ก็จะทำให้คนแต่ละคนมีสีผิวที่แตกต่างกันได้มากมายและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว (อ่านเรื่อง "ทำไมเรามีสีผิวต่างกัน" คลิกที่นี่)



สีผิวของคนเราสามารถที่จะเข้มขึ้นหรือจางลงได้ จะเห็นได้ว่าเมื่อเราทำงานหรือถูกแสงแดดนานๆ ผิวของเราก็จะคล้ำลง หรือเมื่อเราย้ายไปอยู่ในประเทศที่มีภูมิอากาศต่างไปจากที่เราเคยอยู่ สีผิวก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน แต่การที่สีผิวของเราเปลี่ยนไปเนื่องจากการผสมกันของเม็ดสีนั้น ตัวต้นเหตุก็คือจำนวนเม็ดสีต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของเอนไซม์ที่เป็นตัวกระตุ้นการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานินต่างๆ เรามาลองดูเอนไซม์ที่สำคัญเหล่านี้กันว่ามีอะไรบ้าง (ดูภาพประกอบบทความนี้จะช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้นค่ะ)



1. เอนไซม์ไทโรซีเนส (tyrosinase) มีบทบาทมากที่สุดในการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน ทำหน้าที่เปลี่ยนไทโรซีน (Tyrosine) ไปเป็นสารกึ่งกลาง (DOPA, DOPAquinone, DOPAchrome, DHI) จนกระทั่งได้ ยูเมลานิน (eumelanin) ซึ่งมีสีเข้ม (น้ำตาล-ดำ) ถ้าเอนไซม์นี้ทำงานมากเกินไป ก็จะทำให้เม็ดสีเมลานินถูกสร้างได้มากขึ้นและอาจจะได้เม็ดสีสีดำแบบยูเมลานินมากขึ้น ทำให้เกิดรอยดำ หรือ ฝ้า ได้ จึงมีการพยายามยับยั้งการทำงานของเอนไซม์นี้ด้วยสารบางชนิดเช่น วิตามินซี, แอลบูตีน (albutin), ลิกเคอริส (licorice) เพื่อลดการสร้างเม็ดสีดำมากเกินไป ทำให้ผิวขาวขึ้นได้ (เมื่อก่อนมีการใช้สารจำพวก ไฮโดรควิโนน ด้วย แต่ว่ามีผลข้างเคียงมากซึ่งควรหลีกเลี่ยง)



2. เอนไซม์กลูตาไธโอน (glutathione) หรือ ซิสทีน (cysteine) จะมีบทบาทรองๆ ลงมา สาวๆ หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องของยากลูตาไธโอนใช่ไหมล่ะคะ นั่นล่ะที่เป็นการใช้งานผลข้างเคียงของยาชนิดนี้เพื่อทำให้ผิวมีสีชมพู (อ่านเรื่อง ยาเม็ดกลูตาไธโอนได้ผลจริงหรือ คลิกที่นี่) คือจะเปลี่ยน DOPAquinone ไปเป็น ฟีโอเมลานิน (pheo-melanin) ได้มากขึ้นทำให้มีผิวสีชมพู ในธรรมชาติเราก็สามารถพบกลูตาไธโอนได้ในผลไม้ เช่น แตงโม สตรอเบอรี่ องุ่น น้ำผึ้ง อยู่แล้ว การรับประทานอาหารเหล่านี้จึงมักจะช่วยให้ผิวขาวใสขึ้นได้ แต่อย่าลืมว่า ถ้าการสร้างเม็ดสีนี้ผิดปกติเป็นบางจุดบนใบหน้า ก็ทำให้เกิดสีไม่เรียบเนียนได้เช่นกัน



3. เอนไซม์ D.tautomerase และ D.polymerase สองตัวนี้จะช่วยในการเปลี่ยน DOPAchrome ไปเป็น DHI และ จาก DHI ไปเป็น ฟีโอเมลานิน (pheo-melanin) ตามลำดับ ทำให้มีผิวสีชมพู ซึ่งหากมีมากเกินไปก็จะทำให้เกิดเป็นกระหรือรอยสีแดงได้อีก พบว่าสารเคมีในกลุ่ม วิตามินซี, Licorice, Kogic acid สามารถยับยั้งเอนไซม์นี้ได้


4. เอนไซม์ D.peroxidase เป็นเอนไซม์ที่เปลี่ยนสารกึ่งกลาง DHI ให้กลายเป็นเม็ดสี ยูเมลานิน (eumelanin) ซึ่งมีสีคล้ำ สารเพิ่มความขาวในกลุ่ม albutin จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ D.peroxidase นี้ทำให้ไม่เกิดเม็ดสีคล้ำมากขึ้น



นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องรังสีอุลตร้าไวโอเล็ต (ultraviolet) ทั้งชนิด A และ B ที่สามารถทำให้สีผิวเปลี่ยนไปได้อีกคือ รังสี UV ชนิด A เป็นรังสีที่มีช่วงคลื่นยาว พลังงานต่ำ จะกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนัง melanocytes สร้างเม็ดสีเมลานินได้โดยตรง, กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ Tyrosinase ให้ทำงานได้มากขึ้น, และทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นบนคือ keratinocyte รับสารเมลานินได้มากขึ้นส่งผลให้สีผิวเข้มขึ้น จึงทำให้เกิดผิวสีคล้ำ เกิดฝ้า หรือ กระ และรังสี UVB (รังสี UV ชนิด B มีช่วงคลื่นสั้น พลังงานสูง) จะทำให้การทำงานประสานกันของเซลล์ melanocyte และเซลล์ผิวหนัง keratinocyte ได้ดีขึ้นในการรับส่งเม็ดสีเมลานินทำให้ผิวคล้ำได้เช่นกัน



เป็นอย่างไรคะ จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วการที่ผิวมีสีอย่างไรนั้น มีที่มาที่ไป และมีกลไกที่ทำให้สีผิวของเราเปลี่ยนไปได้ ดังนั้นการที่เราจะควบคุมสีผิวก็เป็นสิ่งที่พอจะทำได้ ดังบทความตอนต่อไปเรื่อง "ทฤษฎีความขาว" (คลิกที่นี่) ที่ womanandkid จะได้เสนอในตอนต่อไปค่ะ

ที่มา
http://www.womanandkid.com/index.php/womanhealth/8-healthknowledge/120-melanin-biosynthesis-pathway