วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

โคลงโลกนิติ








โคลงโลกนิติ เป็นวรรณกรรมประเภทคำสอน ในลักษณะของโคลงสุภาษิต คำว่า โลกนิติ (อ่านว่า โลก-กะ-นิด) แปลว่า ระเบียบแบบแผนแห่งโลก



สำนวนเก่า


โคลงโลกนิติเชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยนักปราชญ์ในสมัยนั้นได้คัดเลือกหาคาถาสุภาษิตภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตที่ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ เช่น คัมภีร์โลกนิติ, คัมภีร์ธรรมนีติ, คัมภีร์ราชนีติ, หิโตปเทศ, ธรรมบท และ พระไตรปิฎก เป็นต้น มาถอดความแล้วเรียบเรียงแต่งเป็นโคลงโลกนิติ
ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ


ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์ฯ) ในปี พ.ศ. 2374 ก็มีดำริให้จารึกวิชาการสาขาต่างๆ ไว้บนแผ่นศิลาที่ประดับไว้ตามเสาหรือกำแพงพระวิหาร ในการนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนเดชอดิศร (ต่อมาได้ดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร) ทรงชำระโคลงโลกนิติของเก่าให้ประณีตไพเราะยิ่งขึ้น เพื่อจารึกไว้ในคราวเดียวกัน


จำนวนโคลงโลกนิติที่ปรากฏต้นฉบับในสมุดไทยมีทั้งสิ้น 408 บท แต่ที่จารึกไว้ในวัดพระเชตุพนฯ แผ่นละบท มี 435 แผ่น (รวมโคลงนำ 2 บท) คาดว่ามีโคลงที่แต่งเพิ่มเติมเพื่อให้พอดีกับพื้นที่จารึก





หนังสือประชุมโคลงโลกนิติ ขึ้นต้นด้วยโคลงนำ 2 บท คือ





๑อัญขยมบรมนเรศเรื้อง รามวงศ์

พระผ่านแผ่นไผททรง สืบไท้

แสวงยิ่งสิ่งสดับองค์ โอวาท

หวังประชาชนให้ อ่านแจ้งคำโคลง



๑ครรโลงโลกนิตินี้ นมนาน

มีแต่โบราณกาล เก่าพร้อง

เป็นสุภสิตสาร สอนจิต

กลดั่งสร้อยสอดคล้อง เวี่ยไว้ในกรรณ
 .....
ทยอยลงบทกลอนเรื่อยๆนะคะ
...
๓๗

ถึงจนทนสู้กัด   กินเกลือ
อย่าเที่ยวแล่เนื้อเถือ   พวกพ้อง
อดอยากเยี่ยงเสือ   สงวนศักดิ์
โซก็เสาะใส่ท้อง   จับเนื้อกินเอง
....
๕๙
จระเข้คับน่านน้ำ        ไฉนหา ภักษ์เฮย
รถใหญ่กว่ารัถยา        ยากแท้
เสือใหญ่กว่านา          ไฉนอยู่ ได้แฮ
เรือเขื่องคับชะเลแล้     แล่นโล้ไปไฉน

แปลความ

จระเข้ตัวใหญ่โตคับแม่น้ำย่อมหาอาหารไม่สะดวก รถที่ใหญ่กว่าถนนเสือตัวโตกว่าป่า เรือลำใหญ่คับทะเลเหล่านี้ย่อมยากต่อการดำรงอยู่
 
สำนวนนี้ เปรียบได้กับคนที่ใช้อำนาจเกินหน้าที่ของตัว ทำให้ตัวเองลำบาก และคนอื่นวุ่นวายใจ อีกอย่างคนโลภมากไม่รู้จักพอย่อมหาทรัพย์ในทางที่ผิด  ทำให้คนอื่นเดีอดร้อน สุดท้ายก็ทำตัวให้ตกต่ำฉิบหาย เพราะความไม่รู้จักพอ
....
คนใดโผงพูดโอ้         อึงดัง
อวดว่ากล้าอย่าฟัง         สับปลี้
หมาเห่าเล่าอย่าหวัง       จักขบใครนา
สองเหล่าเขาหมู่นี้          ชาติเชื้อเดียวกัน
....
ด้านล่างนี้ที่มาจากคุณกิมเล้ง http://www.sookjai.com/index.php?topic=64593.0;wap
 
 
 
  เสพกัญชา
   จิตรกรรมฝาผนัง วัดใหญ่อินทาราม  อำเภอเมือง  จังหวัดชลบุรี
• ปลาร้าพันห่อด้วย      ใบคา
ใบก็เหม็นคาวปลา        คละคลุ้ง
คืนคนหมู่ไปหา           คบเพื่อน  พาลนา
ได้แต่รายร้ายฟุ้ง          เฟื่องให้เสียพงศ์ฯ

                   คนทั้งหลายที่ไปมั่วสุม คบค้าสมาคมกับคนพาลคนชั่ว
                   ย่อมต้องพัวพันกับเรื่องเลวร้าย พาให้ตนเองและวงศ์ตระกูลพลอยเดือดร้อนเสียหายไปด้วย
                   เปรียบดังนำใบคาไปห่อปลาร้า กลิ่นเหม็นย่อมติดฝังแน่นในใบคา แม้จะนำไปล้างน้ำกลิ่นนั้นก็ไม่จางหาย.



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะยังทรงพระเยาว์ กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต  พฺรหฺมรํสี)
ถ่ายจากพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดเกตุการาม  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่
• ใบภ้อพันห่อหุ้ม       กฤษณา
หอมระรวยรสพา         เพริศด้วย
คือคนเสพเสน่หา        นักปราชญ์
ความสุขซาบฤาม้วย     ดุจไม้กลิ่นหอม

                   การคบหาสมาคมกับนักปราชญ์ การมีมิตรดีมีคุณธรรม ย่อมชักนำให้เราประกอบแต่คุณงามความดี มีแต่ความสุขความเจริญ
                   เปรียบเช่นไม้กฤษณาซึ่งมีกลิ่นหอม นำใบภ้อมาห่อหุ้ม กลิ่นหอมของไม้กฤษณายังหอมระรวยติดอยู่ที่ใบภ้อ.



ผลมะเดื่อใหญ่
ภาพจาก : น้ำตกคลองลาน  อำเภอคลองลาน  จังหวัดกำแพงเพชร
• ผลเดื่อเมื่อสุกไซร้    มีพรรณ
ภายนอกแดงดูฉัน      ชาดบ้าย
ภายในย่อมแมลงวัน    หนอนบ่อน
ดุจดั่งคนใจร้าย         นอกนั้นดูงามฯ

                   ยถา อุทุมฺพรปกฺกา, พหิ รตฺตกา เอว จ;  อโนฺตกิมิล สมฺปุณฺณา, เอวํ ทุชฺชนหทยาฯ
                   ผลมะเดื่อเมื่อสุก มีสีแดงสวยงามสดใส ดังเอาชาดมาทาป้ายไว้
                   แต่ภายในผลมะเดื่อนั้น เต็มไปด้วยหนอนและแมลง หาความสวยงามดั่งภายนอกมิได้
                   เปรียบเช่นคนภายนอกดูเป็นคนดีน่าคบหา แต่จิตใจที่ซ่อนอยู่ภายในกายโหดร้ายนัก
                                พุทธศาสนสุภาษิต



• ขนุนสุกสล้างแห่ง       สาขา
ภายนอกเห็นหนามหนา   หนั่นแท้
ภายในย่อมรสา            เอมโอช
สาธุชนนั่นแล้              เลิศด้วยดวงใจ ฯ

                   ยถา ปิ ปนสา ปกฺกา พหิ กณฺฑกเมว จ
                   อนฺโต อมตสมฺปนฺนา เอวํ สุชนหทยา
                   ผลขนุนสุกอยู่ตามกิ่งก้านสาขาของต้น ดูภายนอกเห็นแต่หนามแหลมอยู่ตามเปลือกผล
                   แต่เนื้อขนุนซึ่งอยู่ภายในนั้นให้รสชาติหอมหวานยิ่งนัก เปรียบเหมือนคนที่รูปกายภายนอกขี้ริ้วขี้เหร่
                   แต่ภายในจิตนั้น งดงาม เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม
                                พุทธศาสนสุภาษิต



• ยางขาวขนเรียบร้อย     ดูดี
ภายนอกหมดใสสี          เปรียบฝ้าย
กินสัตว์เสพปลามี          ชีวิต
เฉกเช่นชนชาติร้าย        นอกนั้นนวลงามฯ

                   นกกระยาง มีขนสีขาวสวยงามดังปุยฝ้าย เห็นแต่ภายนอกก็ว่าขาวสะอาดดีแต่ในจิตนั้นไซร้
                   ชั่วร้าย ขาดเมตตา กินปลาและสัตว์มีชีวิตเป็นอาหาร เปรียบเช่นคนรูปร่างหน้าตาผิวพรรณดี แต่มีจิตใจโหดร้าย
                  


ภาพ : www.igoodmedia.net
• รูปแร้งดูร่างร้าย      รุงรัง
ภายนอกเพียงพึงชัง   ชั่วช้า
เสพสัตว์ที่มรณัง       นฤโทษ
ดังจิตสาธุชนกล้า      กลั่นสร้างทางผล ฯ

                   นกแร้งมีรูปร่างแสนสกปรกรกรุงรัง น่าเกลียดน่าชัง  กินสัตว์ที่ตายแล้วเป็นอาหาร จึงไม่เป็นบาปเป็นกรรมแก่ตัว
                   เปรียบเช่นคนที่มีชีวิตอยู่ในวงแวดล้อมของคนชั่ว คนไม่มีศีล แต่คนผู้นั้นก็มิได้คบหาสมาคม มีจิตใจแน่วแน่มั่นคง มุ่งประกอบแต่คุณงามความดีเพื่อมรรคผลในภายหน้า



• พระสมุทรสุดลึกล้น      คณนา
สายดิ่งทิ้งทอดมา           หยั่งได้
เขาสูงอาจวัดวา            กำหนด
จิตมนุษย์นี้ไซร้             ยากแท้หยั่งถึง ฯ

                   มหาสมุทรจะลึกเพียงใดก็ตาม ก็ไม่พ้นความสามารถของมนุษย์ที่จะทอดสายดิ่งวัดความลึกดูได้
                   ขุนเขาแม้จะสูงสุดฟากฟ้า ก็วัดความสูงของยอดได้  แต่จิตมนุษย์นี้ คาดเดาได้ยากว่าเขาชังเรา หรือรักเรา


• ห้ามเพลิงไว้อย่าให้    มีควัน
ห้ามสุริยแสงจันทร์       ส่องไซร้
ห้ามอายุให้หัน           คืนเล่า
ห้ามดั่งนี้ไว้ได้            จึ่งห้ามนินทา ฯ

                   ห้ามไฟไม่ให้มีควัน ห้ามพระอาทิตย์พระจันทร์อย่าส่องแสง
                   ห้ามอายุให้หวนคืนเด็ก  ห้ามทั้งสามสิ่งนี้ได้ จึ่งสามารถห้ามการนินทา.
                              


• คนพาลผู้บาปแท้      ทุรจิต
ไปสู่หาบัณฑิต           ค่ำเช้า
ฟังธรรมอยู่เนืองนิตย์     บ่ซาบ  ใจนา
คือจวักตักข้าว           ห่อนรู้รสแกง ฯ

                   คนพาลสันดานบาป แม้จะสมาคมกับนักปราชญฺ์ ได้ฟังธรรมคำสอนอยู่เนืองนิตย์
                   ก็หาได้ซาบซึ่งในคำสั่งสอนนั้นไม่ เปรียบเช่นจวักตักข้าวตักแกงแต่ไม่รู้รสชาติของแกงว่าเป็นอย่างไร
                              


     ภาพ : จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดพระธาตุดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่
• คนใดไปเสพด้วย       คนพาล
จักทุกข์ทนเนานาน       เนิ่นแท้
ใครเสพท่วยทรงญาณ    เปรมปราชญ์
เสวยสุขล้ำเลิศแล้         เพราะได้สดับดีฯ

                   คนผู้คบคนพาล คนพาลย่อมชักนำให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญอยู่เนืองนิตย์
                   ผู้ใดคบกับบัณฑิต บัณฑิตย่อมชักจูงให้กระทำแต่สิ่งที่เป็นคุณ จึงย่อมได้รับแต่ความสุขความเจริญ
                              

ภาพ :วัดธาตุหลวงใต้  เวียงจันทน์  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
• ผู้ใดใจฉลาดล้ำ         ปัญญา
ได้สดับปราชญ์เจรจา      อาจรู้
ยินคำบัดเดี๋ยวมา          ซับซาบ  ใจนา
คือมลิ้นคนผู้               ซาบรู้รสแกง ฯ

                   ผู้มีสติปัญญา เมื่อได้ฟังนักปราชญ์สั่งสอน แม้เพียงชั่วเวลาอันสั้นๆ
                   ก็สามารถเข้าใจคำสั่งสอนอย่างซาบซึ้งได้ไม่ยาก เปรียบเช่นลิ้นคน ที่ไวต่อรสชาติของอาหาร ฉันนั้น


• หมูเห็นสีหราชท้า        ชวนรบ
กูสี่ตีนกูพบ                 ท่านไซร้
อย่ากลัวท่านอย่าหลบ      หลีกจาก กูนา
ท่านสี่ตีนอย่าได้            วากเว้วางหนี ฯ

                   หมูเห็นพญาราชสีห์ มีสี่เท้าเท่าตัวเอง ก็ทะนงตัว ร้องท้าราชสีห์ชวนรบว่า
                   เรามีสี่ตีน ท่านก็สี่ตีนเหมือนเรา ท่านจงมาสู้กับเรา อย่ากลัวเราแล้วรีบหลบหนีไปเสียเล่า...อย่าประเมินคุณสมบัติคนที่เราพบเห็นแต่เพียงรูปลักษณ์ภายนอก

• สีหราชร้องว่าโอ้         พาลหมู
ทรชาติครั้นเห็นกู          เกลียดใกล้
ฤามึงใคร่รบดนู             มึงนาศ  เองนา
กูเกลียดมึงกูให้            พ่ายแพ้ภัยตัว ฯ

                   พญาสีหราชได้ยินดังนั้น ร้องตอบไปว่า เจ้าหมูสกปรกโอหัง นี่เอ็งคิดสู้รบกับข้าเชียวหรือ?
                   ถ้ารบกับเราตัวเอ็งน่ะแหละจะถึงความพินาศ เอาเถอะ! ข้าไม่อยากสู้รบกับคนพาล ข้าขอยอมแพ้.





• กบเกิดในสระใต้         บัวบาน
ฤาห่อนรู้รสมาลย์           หนึ่งน้อย
ภุมราอยู่ไกลสถาน         นับโยชน์ ก็ดี
บินโบกมาค้อยค้อย         เกลือกเคล้าเสาวคนธ์

                   กบเกิดในสระบัวที่บานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่ว แต่หาได้รู้รสอันหวานหอมของเกสรบัวไม่
                   แมลงผึ้งอยู่ไกลสระนับโยชน์ ยังได้สัมผัสกลิ่น โบยบินมาลิ้มชิมรส เกลือกเคล้ำเกสรบัวอยู่เป็นประจำ.



• ใจชนใจชั่วช้า           โฉงเฉง
ใจจักสอนใจเอง            ไป่ได้
ใจปราชญ์ดัดตามเพลง    พลันง่าย
ดุจช่างปืนดัดไม้            แต่งให้ปืนตรง ฯ

                   คนใจบาปหยาบช้า ย่อมไม่สามารถตักเตือนตัวเองให้รู้จักผิดชอบชั่วดีได้ ส่วนคนผู้มีปัญญาสามารถฝึกหัด
                   อบรม เตือนตนเองให้เป็นคนตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมไม่ประกอบกรรมชั่วอันเป็นอกุศล ดุจช่างเกาทัณฑ์ดัดลูกศร หน้าไม้ ให้ตรงฉะนั้น.


พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง จังหวัดราชบุรี
• เป็นคนควรรอบรู้           สมาคม
สองประการนิยม              กล่าวไว้
หนึ่งพาลหนึ่งอุดม             นักปราชญ์
สองสิ่งนี้จงให้                  เลือกผู้สมาคม ฯ

                   ท่านว่า ให้พิจารณาเลือกคบหาสมาคมกับบุคคล ๒ จำพวกนี้ไว้
                   หนึ่ง คือ คนพาล สองคือ นักปราชญ์  บุคคลสองจำพวกนี้พึงเลือกคบให้ดีเถิด.


• ความรู้ผู้ปราชญ์นั้น        รักเรียน
ฝนทั่งเท่าเข็มเพียร            ฝ่ายหน้า
คนเกียจเกลียดหน่ายเวียน    วนจิต
กลอุทกในตะกร้า              เปี่ยมล้นฤามี ฯ

                   คนจะเป็นนักปราชญ์ ย่อมหมั่นศึกษาเล่าเรียนแสวงหาความรู้ใส่ตัว ไม่ท้อถอย เปรียบกับการหมั่นเพียรฝนแท่งเหล็กจนสำเร็จเป็นเข็มเย็บผ้า
                   ส่วนคนเกียจคร้าน เบื่อหน่ายการเรียน จะไม่มีวิชาความรู้ติดตัวที่จะนำพาให้ชีวิตดำเนินไปอย่างมีความสุข เปรียบกับอุทก(แปลว่า น้ำ) ที่ขังอยู่ไม่ได้ในตระกร้า ย่อมไหลออกไปจนหมดเกลี้ยง


ภาพจาก วัดมงคลบพิตร  พระนครศรีอยุธยา
• รำฟ้อนสุนทรด้วย     รูปา
ร้องขับศัพท์เสน่หา       ยิ่งแท้
มวยปล้ำล่ำสันสา        มารถจึ่ง ดีแฮ
รักกับชังนั้นแล้           เพื่อลิ้นเจรจา      

                   การร่ายรำนั้น สวยงามด้วยท่วงท่า และรูปร่างหน้าตาของผู้ฟ้อนรำ
                   เพลงฟังไพเราะ เพราะทำนองและน้ำเสียงของผู้ขับร้อง
                   นักมวยจะชนะคู่ต่อสู้ได้ก็ด้วยความสามารถและความแข็งแรง
                   แต่คนจะรักหรือชังกันนั้น เกิดจากน้ำคำเจรจานั้นแล.


ภาพ "ป่าชายเลน"  จังหวัดชลบุรี
• ไม้ค้อมมีลูกน้อม      นวยงาม
คือสัปปุรุษสอนตาม     ง่ายแท้
ไม้ผุดั่งคนทราม         สอนยาก
ดัดก็หักแหลกแล้        ห่อนรื้อโดยตาม ฯ

                   ต้นไม้ที่มีผลดก กิ่งย่อมโอนอ่อนโน้มลงสู่พื้นดิน เช่นเดียวกับผู้มีปัญญา เป็นบุคคลฝึกหัด อบรมง่าย
                   ส่วนไม้ผุ จะดัดให้ตรงอย่างไรก็ทำไม่ได้ รอแต่เวลาผุพังแหลกสลายเท่านั้น เปรียบดังคนพาล ได้ฟังคำสั่งสอนอบรมก็ไม่รู้ในสิ่งดีสิ่งเลว ท่านว่า เป็นบุคคลอบรมสั่งสอนยาก.


 
• คนใดยืนอยู่ร้อย      พรรษา
ใจบ่มีปรีชา             โหดไร้
วันเดียวเด็กเกิดมา      ใจปราชญ์
สรรเพชญบัณฑูรไว้     เด็กนั้นควรยอ ฯ

                   คนเราถึงจะมีอายุยืนถึง ๑๐๐ ปี แต่โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้จักแสวงหาความรู้่
                   สู้เด็กที่เกิดมาเพียงวันเดียว ที่เป็นผู้มีสติปัญญา มีความสามารถฉลาดเฉลียวก็ไม่ได้
                   พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญเด็กนั้น .


• มีอายุร้อยหนึ่ง        นานนัก
ศีลชื่อปัญจางค์จัก      ไป่รู้
ขวบเดียวเด็กรู้จัก       ษานิจ ศีลนา
พระตรัสสรรเสริญผู้     เด็กนั้นเกิดศรี ฯ  

                   คนเราถึงจะมีอายุยืนถึง ๑๐๐ ปี แต่เป็นผู้ไม่มีศีลมีธรรม
                   พระพุทธองค์ตรัสว่า เด็กที่เกิดมามีอายุเพียงหนึ่งปี แต่รู้จักบุญบาป รู้รักษาศีล เป็นผู้ประเสริญกว่า.


     หุ่นขึ้ผึ้ง : ประธานาธิบดี เหมา เจ๋อตง  และ เติ้ง เสี่ยวผิง
     ภาพจาก  พิพิธภัณฑหุ่นขี้ผึ้งสยาม  จังหวัดราชบุรี
• ได้เห็นนักปราชญ์ไซร้     เป็นสุข
อยู่ร่วมเรือนหายทุกข์        ค่ำเช้า
ผู้พาลสั่งสอนปลุก           ใจดั่ง พาลนา
ยลเยี่ยงนกแขกเต้า          ตกต้องมือโจร ฯ        

                   การได้พบเห็น ได้ฟังนักปราชญ์ ย่อมทำให้เราได้รับความรู้ พัฒนาตนเองให้มีความสามารถ เจริญในทางที่ถูกที่ควร
                   ยิ่งหากได้มีโอกาสคลุกคลี อยู่ร่วมกันด้วยแล้ว ปราชญ์ผู้นั้นจักเป็นผู้ช่วยอบรมสั่งสอนเราไปสู่หนทางแห่งความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปอีก
                   ตรงกันข้ามหากเราคลุกคลีกับคนพาล  คนพาลก็จักชักนำเราไปสู่แต่หนทางอบาย อุปมาดังเช่นนิทานเรื่องนกแขกเต้าที่ตกไปอยู่ในรังโจร.


• จงนับสัปปุรุษผู้            บุญธรรม์
จงละหลีกพาลอัน            ชั่วช้า
จงสร้างสืบบุญธรรม์          ทุกเมือ
(จงสร้างสืบบุญวัน           ค่ำต่อ วายนา)*
จงนึกนิตย์ชีพคล้าย          ดุจด้วยฟองชล ฯ      
* ข้อความในวงเล็บ เป็นข้อความในต้นฉบับบางเล่มที่ผิดออกไป จึงนำมาลงไว้ด้วย...สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร

                   พึงคบหาสมาคมกับผู้มีศีลมีธรรม  จงหลีกหนีการคบคนพาล
                   จงหมั่นสร้างบุญกุศล สร้างสมคุณงามความดี หมั่นรำลึกไว้เสมอว่า ชีวิตไม่เที่ยง สังขารย่อมเสื่อมสลายและแตกดับอย่างแน่นอน.


จิตรกรรมฝาผนัง : โรงแรมคุ้มภูคำ  จังหวัดเชียงใหม่
• งาสารฤาห่อนเหี้ยน     หดคืน
คำกล่าวสาธุชนยืน        อย่างนั้น
ทุรชนกล่าวคำฝืน         คำเล่า
หัวเต่ายาวแล้วสั้น         เล่ห์ลิ้นทรชน ฯ

                   งาช้างที่งอกออกมาแล้ว ย่อมไม่หดคืน เช่นเดียวกับคำพูดของคนมีศีลธรรม คำพูดย่อมมั่นคง เชื่อถือได้
                   ตรงกันข้าม คนพาลหรือทุรชน มักพูดจากลับกลอกเชื่อถือไม่ได้ ดุจหัวเต่าประเดี๋ยวยาวประเดี๋ยวสั้น ผลุบๆ โผล่ๆ จากกระดอง ฉะนั้น .


• ทรชนอย่าเคียดแค้น   อย่าสนิท
อย่าห่างศัตรูชิด          อย่าใกล้
คือไฟถ่านแรงฤทธิ       ถือถลาก มือนา
แม้นดับแล้วบ่ไหม้        หม่นต้องมือดำ ฯ  

                   ให้เปรียบคนเช่นนี้ดังศัตรู : คนชั่ว คนพาล เหมือนถ่านไฟที่กำลังลุกโชน
                   อย่าไปสนิทชิดเชื้อคบหาสมาคม เพราะรังแต่จะนำความเดือดร้อนมาให้
                   ...ถ่านที่กำลังติดไฟ ถูกมือก็ไหม้พอง  แม้ไฟดับสนิทแล้ว ไปจับถ่านเข้าก็ดำติดมือ.


• ปางก่อนเคยร่วมน้ำ     ใจจิต
เคยยื่นทรัพย์ไปล่ปลิด     ปลดให้
เคยเป็นมิ่งเมียสนิท        หลายชาติ มานา
ในชาตินี้จึงได้              เสพส้องครองกัน ฯ

                   ในชาติปางก่อน คนเคยอยู่ด้วยกัน ผูกพันรักใคร่ อุปถัมภ์เกื้อกูลกันมาหลายชาติ
                   มาในชาตินี้ บุพเพสันนิวาสย่อมชักนำให้ประสบพบกัน ได้อยู่เป็นคู่ครองกันอีก.


ภาพ :สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง  อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่
• นาคีมีพิษเพี้ยง       สุริโย
เลื้อยบ่ทำเดโช         แช่มช้า
พิษน้อยหยิ่งโยโส      แมลงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า         อวดอ้างฤทธี ฯ

                   พญานาคมีฤทธิ์เดชร้ายแรงดั่งดวงอาทิตย์  เลื้อยไปไหนมาไหนอย่างแช่มช้า ไม่วางท่าอวดอำนาจ
                   ผิดกันกับแมลงป่อง ที่เป็นสัตว์มีพิษเพียงเล็กน้อย แต่กลับทำท่าทางยโสโอหัง ทำชูหางวางโตให้ใครๆ ต้องเกรงกลัวว่าตัวเป็นสัตว์มีพิษ.


หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
 
• ภูเขาเหลือแหล่ล้วน         ศิลา
หามณีจินดา                    ยากได้
ฝูงชนเกิดนานา                 ในโลก
หานักปราชญ์นั้นไซร้           เลือกแล้วฤามี ฯ

                   ภูเขาอยู่มากมายทั่วไปในโลก ล้วนมีแต่หินไม่มีราคา จะเสาะแสวงหารัตนชาติ (เงิน ทอง เพชร พลอย ฯลฯ) ที่มีในภูเขาแม้เพียงสักชิ้นเล็กๆ ก็หาได้ยากแสนยาก
                   อุปมา คนที่เกิดมาในโลกมีมากมายเหลือคณานับ แต่จะค้นหาผู้เป็นนักปราชญ์ ผู้มีปัญญา ก็ค้นหาได้ยากแสนยากเช่นเดียวกัน.


• ภูเขาทั้งแท่งล้วน              ศิลา
ลมพยุพัดพา                     บ่ขึ้น
สรรเสริญและนินทา              คนกล่าว
ใจปราชญ์ฤาเฟื่องฟื้น            ห่อนได้จินต์จลฯ

                   ภูเขามีความมั่นคงเพราะเต็มไปด้วยแท่งหิน จึงไม่สะเทือนเพราะแรงลม
                   เหมือนกับ "คำสรรเสริญและนินทา" ย่อมไม่ทำให้ใจของนักปราชญ์หวั่นไหวได้ฉันนั้น.


• ป่าหลวงหลายโยชน์พร้อม  พฤกษา
หาแก่นจันทน์กฤษณา         ยากไซร้
ฝูงคนเกิดมีมา                  เหลือแหล่
หาปราชญ์ฤาจักได้             ยากแท้ควรสงวน ฯ

                   ผืนป่ากว้างใหญ่ไพศาล เต็มไปด้วยพรรณไม้นานาชนิดมากมายก่ายกอง จะแสวงหาแก่นไม้จันทร์ ไม้กฤษณา ที่มีคุณค่าสูง หาได้ยากนัก
                   เช่นเดียวกับคนที่เกิดมาในโลก มีมากมายเหลือคณานับ แต่จะแสวงหานักปราชญ์ราชบัณฑิต แม้สักรายเดียวก็แสนยาก.


• มดแดงแมลงป่องไว้    พิษหาง
งูจะเข็บพิษวาง            แห่งเขี้ยว
ทรชนทั่วสรรพางค์        พิษอยู่
เพราะประพฤติมันเกี้ยว   เกี่ยงร้ายแกมดี ฯ

                   มดแดง แมลงป่อง มีพิษอยู่ที่ปลายหาง  งู จะเข็บ (สัตว์จำพวกตะขาบ) มีพิษอยู่ที่เขี้ยว
                   ส่วนคนพาลย่อมคิดชั่ว กระทำความชั่ว (ได้ทั้งตัว - ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า).

 
• นกน้อยขนน้อยแต่     พอตัว
รังแต่งจุเมียผัว           อยู่ได้
มักใหญ่ย่อมคนหัว       ไพเพิด
ทำแต่พอตัวไซร้         อย่าให้คนหยัน ฯ

                   สอนให้ดูตัวอย่าง : นกตัวเล็กๆ เรี่ยวแรงย่อมมีน้อย จึงเสาะแสวงหากิ่งไม้ใบหญ้าทำรังพอได้อยู่อาศัยสองตัวเมียผัว
                   เกิดมาเป็นคน จะทำสิ่งใดก็ให้พอเหมาะพอควรกับกำลังทรัพย์กำลังความสามารถ อย่าได้คิดทำการใหญ่เกินตัวให้ใครๆ ดูถูกดูหมิ่นได้ว่าไม่รู้จักประมาณตน.

กิมเล้ง:
.


    ภาพจาก : www.guitarthai.com
• กละออมเพ็ญเพียบน้ำ     ฤาติง
โอ่งอ่างพร่องชลชิง          เฟื่องหม้อ
ผู้ปราชญ์ห่อนสุงสิง          เยียใหญ่
คนโฉดรู้น้อยก็                พลอดพ้นประมาณฯ

                  หม้อที่มีน้ำเต็มเปี่ยม แรงกระเพื่อมของน้ำจะไม่เกิดเสียงดัง...โอ่ง อ่างน้ำที่มีน้ำขังไม่เต็ม แรงน้ำกระเพื่อมจักเกิดเสียง
                  ..บุคคลผู้เป็นปราชญ์จักไม่โอ้อวดภูมิปัญญาความรู้ความฉลาดของตน  แต่คนโง่เขลาเบาปัญญามักอวดภูมิรู้ของตนแม้จักมีเพียงน้อยนิด


โคลงโลกนิติ : คาถาสุภาษิตจากคัมภีร์โบราณ กับคำอธิบายความ

ภาพจาก : www.osk103.co  
• มัจฉามีทั่วท้อง          ชโลธร
หาเงือกงูมังกร              ยากได้
ทั่วด้าวพระนคร             คนมาก มีนา
จักเสาะสัปปุรุษไซร้        ยากแท้จักมีฯ

                  ปลามีอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำ ทะเล ห้วย หนอง คลอง บึง  แต่จะหาเงือกหรือมังกรสักตัวนั้น หาได้ยาก
                  ผู้คนก็มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง แต่จะหาผู้เป็นนักปราชญ์สักคนนั้น หากได้ยากแท้


• ดารามีมากน้อย         ถึงพัน
บ่เปรียบกับดวงจันทร์      หนึ่งได้
คนพาลมากอนันต์         ในโลก
จะเทียบเท่าปราชญ์ไซร้   ยากแท้ฤาถึงฯ
                  งมเข็มในมหาสมุทร"      
                  แสงสว่างอันเกิดจากดวงดาวนับร้อยนับพันดวง นำมารวมกันแล้ว แสงนั้นก็สว่างไม่เท่ากับแสงจันทร์ที่มีเพียงหนึ่งดวง
                  เช่นเดียวกับปัญญาความรอบรู้ในความเห็นถูกตามสัจธรรมของเหล่าคนพาลที่มีอยู่กลาดเกลื่อนในโลกนี้ นำมารวมกันแล้วก็ยังน้อยกว่าปัญญาของนักปราชญ์เพียงคนเดียว


• คนใดยืนเหยียบร้อย   ขวบปี
ความอุตส่าห์ฤามี         เท่าก้อย
เด็กเกิดขวบหนึ่งดี        เพียรพาก
พระตรัสว่าเด็กน้อย       นี่เนื้อเวไนย ฯ

                  คนเราถึงจะมีอายุยืนยาวเกือบร้อยปี  แต่เป็นคนขาดความอุตสาหะ มีความเกียจคร้านเป็นนิตย์
                  ส่วนเด็กที่เกิดมา แม้มีอายุเพียงหนึ่งปี แต่มีความพากเพียร พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญว่า เด็กนี้คือหน่อเนื้อเวไนย (ผู้ซึ่งสมควรที่จะแนะนำสั่งสอนให้บรรลุอมตธรรมได้)


• นกแรงบินได้เพื่อ      เวหา
หมู่จระเข้เต่าปลา        พึ่งน้ำ
เข็ญใจพึ่งราชา          จอมราช
ลูกอ่อนอ้อนกลืนกล้ำ    เพื่อน้ำนมแรงฯ

                  หมู่วิหคนกกา อาศัยท้องฟ้าโบยบินหาอาหาร  หมู่จระเข้ เต่า ปลา อาศัยแหล่งน้ำเป็นที่อาศัย
                  คนยากไร้เข็ญใจ ย่อมอาศัยพระบารมีองค์กษัตริย์  ลูกอ่อนรอดชีวิตมาได้ เพราะร้องไห้ออดอ้อนขอน้ำนมแม่

                
                  สพฺเพสํ  สุขเมตพฺพํ   ขตฺติเยน ปชานตา
                  ผู้ปกครองแผ่นดินมีปัญญา  พึงแสวงสุขเพื่อปวงประชา
                  (๑๒.๐๖)         (๒๗/๑๐๕๖)



    ภาพจาก : www.dhammajak.net    
• คบกากาโหดให้          เสียพงศ์
พาตระกูลเหมหงส์          แหลกด้วย
คบคนชั่วจักปลง            ความชอบ เสียนา
ตราบลูกหลานเหลนม้วย   ไม่ม้วยนินทา ฯ

                   การคบคนชั่ว นอกจากจักนำความเสื่อมเสียมาสู่พวกเดียวกันแล้ว ยังชักนำให้ผู้มีศักดิ์สกุลสูงส่งที่หลงมาคบค้า ไปสู่อบาย
                   และเสื่อมเสียชื่อเสียงไปจนถึงชั่วลูกหลานเหลน แม้ละโลกนี้ไปแล้วก็หาได้สิ้นคำนินทาไปไม่.
                   กากา กากสฺส โทเสน   หํโส ภวติ สํสก
                   เอวํ ทุชฺชนสงฺคญฺจ  กุลปุตฺโตฺร วิวสฺสติ ฯ .....    พุทธศาสนสุภาษิต


 
• หิ่งห้อยส่องก้นสู้       แสงจันทร์
ปัดเทียบเทียมรัตน์อัน    เอี่ยมข้า
ทองเหลืองหลู่สุวรรณ    ธรรมชาติ
พาลว่าตนเองอ้า          อาจล้ำเลยกวี ฯ

                  คนโง่เขลาเบาปัญญา หลงตัวเองว่าฉลาดกว่า เก่งกว่าบรรดานักปราชญ์จอมกวี
                  อุปมาอุปไมย...หิ่งห้อยชูก้นกระพริบริบหรี่ส่องแข่งแสงจันทรา  ลูกปัดด้อยราคานำมาตีค่าเสมอรัตนมณี
                  ทองเหลืองราคาต่ำนำมาเทียบทองคำที่ล้ำค่าหายาก  


• เสือผอมกวางวิ่งเข้า   โจมขวิด
ไป่ว่าเสือมีฤทธิ์           เลิศล้ำ
เล็บเสือดั่งคมกฤช        เสือซ่อน ไว้นา
ครั้นปะปามล้มคว่ำ        จึ่งรู้จักเสือ ฯ  

                  กวางเห็นเสือผอมโซ คิดว่าเสือคงไร้เรี่ยวแรง จึงกระโจนเข้าขวิดทำร้าย
                  หารู้ไม่ว่าแม้เสือจะผอมแต่ก็ยังมีกรงเล็บอันแหลมคมและแข็งแรง  จึงถูกเสือตะปบล้มคว่ำลง กวางจึงรู้ฤทธิ์เดชของเสือ
                  ปริภูโต มุทุ โหติ     อติติกฺโข จ เวรวา                        
                  อ่อนไปก็ถูกเขาดูหมิ่น  แข็งไปก็มีภัยเวร   .....พุทธศาสนสุภาษิต
                
 
• ภูเขาอเนกล้ำ      มากมี
บมิหนักแผ่นธรณี     หน่อยไซร้
หนักนักแต่กระลี      ลวงโลก
อันจักทรงธารได้     แต่พื้นนรกานต์ฯ  

                  ภูเขาเลากาน้อยใหญ่มีมากมายนับไม่ถ้วนในแผ่นดิน แต่หาทำให้หนักแผ่นดินแต่อย่างใดไม่
                  สิ่งที่ทำให้โลกหนักอยู่นี้คือ บรรดาพวกคนพาล คนชั่ว คนลวงโลก อันควรมีที่อาศัยที่อยู่ได้คือ นรกอเวจี



• ป่าพึ่งพาลพยัคฆ์ร้าย    ราวี
เสือพึ่งไพรพงพี             เถื่อนถ้ำ
ความชั่วพึ่งความดี          เท็จพึ่ง จริงนา
เรือพึ่งแรงน้ำน้ำ             หากรู้คุณเรือฯ

                 ป่าอยู่ได้เพราะมีเสืออาศัย คนไม่กล้าเข้าไปตัดไม้....เสือยังชีพอยู่ได้เถื่อนถ้ำในป่าเป็นที่อาศัยและกินสัตว์ที่อยู่ในป่าเป็นอาหาร
                 "ความชั่วพึ่งความดี ความเท็จพึ่งความจริง" ... เมื่อปรากฎความดีจะทำให้เรารู้จักความชั่ว...ความจริงปรากฏเมื่อใดจะทำให้รู้ว่าที่แล้วมาคือความเท็จ
                 "เรือพึ่งน้ำน้ำพึ่งเรือ" เรือจะลอยตัวและแล่นได้ต้องมีน้ำ  น้ำจะไม่เน่าเหม็น น้ำต้องมีแรงกระเพื่อม (อาศัยเรือวิ่งไปมาให้เกิดออกซิเจนในน้ำ)


 
• พ่อตายคือฉัตรกั้ง    หายหัก
แม่ดับดุจรถจักร         จากด้วย
ลูกตายบ่วายรัก         แรงร่ำ
เมียมิ่งตายวายม้วย     มืดคลุ้มแตนไตร ฯ
                     พ่อตายเปรียบเหมือนยอดฉัตรหักลงมา  แม่ตายเปรียบเหมือนล้อราชรถหลุดหาย
                     ลูกตายก็ไม่วายความอาลัยเศร้าโศรก  ยิ่งเมียมาตายจากไปอีกคน ดูประหนึ่งว่าช่างมืดมิดไปเสียทั้งสามโลก
                     (แดนไตร หมายถึง โลกทั้ง ๓ ได้แก่ กามภพ คือภพของเทวดาลงมา, รูปภพ คือ ภพของพรหมที่มีรูป, อรูปภพ คือภพของพรหมที่ไม่มีรูป; หรือ สวรรค์ มนุษยโลกและบาดาล.



• วิชาเป็นเพื่อนเลี้ยง       ชีวิต
ยามอยู่เรือนเมียสนิท       เพื่อนร้อน
ร่างกายสหายติด            ตามทุกข์ ยากนา
ธรรมหากเป็นมิตรข้อน     เมื่อม้วยอาสัญ ฯ

                  วิชาความรู้ เป็นเพื่อนช่วยทำมาหากินเลี้ยงชีวิต  ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก เป็นเพื่อนสนิทในยามเดือดร้อนวุ่นวายใจ
                  ร่างกาย เป็นเพื่อนตามติดเราไปทุกแห่งหนแม้ในยามสุขยามทุกข์ยากลำบาก  แต่ ธรรมะ-บุญ บาป ที่สั่งสมไว้ จะเป็นเพื่อนตามติดเราไปจนถึงภพหน้า.



• เมื่อน้อยเรียนเร่งรู้     วิชา
ครั้นใหญ่หาสินมา        สู่เหย้า
เมื่อกลางแก่ศรัทธา      ทำแต่ บุญนา
ครั้นแก่แรงวอกเว้า       ห่อนได้เป็นการ ฯ

• ปางน้อยสำเหนียกรู้   เรียนคุณ
ครั้นใหญ่ย่อมหาทุน      ทรัพย์ไว้
เมื่อกลางแก่แสวงบุญ    ธรรมชอบ
ยามหง่อมทำใดได้       แต่ล้วนอนิจจัง ฯ
          น้ำขึ้นให้รีบตัก....สุภาษิต

                  เมื่อยังเด็กให้หมั่นศึกษาเล่าเรียนหาแสวงหาความรู้ใส่ตน  เมื่อเติบใหญ่ให้รีบขวนขวายทำมาหากิน เก็บหอมรอบริบให้มีฐานะมั่นคง
                  เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนให้หมั่นสร้างสมบุญกุศล เพราะเมื่อถึงคราวแก่ชราคิดจะทำอะไรก็ทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะไม่มีเรี่ยวแรง รอแต่วันตายแตกดับตามกฎอนิจจัง  


โคลงโลกนิติ : คาถาสุภาษิตจากคัมภีร์โบราณ กับคำอธิบายความ

• ตมแก่แต่น้ำแล่น     เป็นกระสาย
น้ำก็ล้างเลนหาย        ซากไซร้
บาปเกิดใช่แต่กาย      เพราะจิต ก่อนนา
อันจักล้างบาปได้       เพราะน้ำใจเอง ฯ

                  โคลนเลน เกิดจากกระแสน้ำพัดพามารวมสะสมไว้  และน้ำนี่เองที่จะช่วยชะล้างโคลนเลนให้หมดสิ้นไปได้
                  บาปของพวกเราทั้งหลายก็เช่นกัน เกิดขึ้นจากจิตที่เป็นอกุศล ดังนั้น หากจะชำระล้างบาป ก็ต้องชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใสนั่นเอง
                  จิตฺเตน  นียติ  โลโก ...กุศลจิต  ย่อมนำสัตว์โลกไปสู่สุคติภูมิ



ภาพจาก : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด
• อย่าโทษไทท้าวท่วย  เทวา
อย่าโทษสถานภูผา       ย่านกว้าง
อย่าโทษหมู่วงศา         มิตรญาติ
โทษแต่กรรมเองสร้าง     ส่งให้เป็นเองฯ

                  เมื่อมีทุกข์มีโศก มีโรคมีภัย จงอย่าได้โทษเทวดา ฟ้า ดิน ญาติสนิทมิตรสหาย หรือวงศาคณาญาติ
                  ให้รู้ว่าทุกข์นั้นเกิดจากกรรม คือการกระทำของตัวนั่นเอง ...ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่วย่อมได้รับความทุกข์เดือดร้อน



ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
• ช้างสารหกศอกไซร้    เสียงา
งูเห่ากลายเป็นปลา         อย่าต้อง
ข้าเก่าเกิดแต่ตา            ตนปู่ ก็ดี
เมียรักอยู่ร่วมห้อง          อย่าไว้ วางใจ ฯ

     ท่านว่า สิ่ง ๔ อย่าง อย่าได้ไว้วางใจ คือ
     ๑. ช้างสารสูง หกศอก ถึงแม้งาจะหักไปข้างสองข้าง
     ๒. งูเห่า (ชาวนากับงูเห่า...เลี้ยงไม่เชื่อง)
     ๓. ข้าเก่าที่อยู่มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย และ
     ๔. เมียรักร่วมเรียงเคียงหมอน


• ตีนงูงูไซร้หาก           เห็นกัน
นมไก่ไก่สำคัญ             ไก่รู้
หมู่โจรต่อโจรหัน           เห็นเล่ห์ กันนา
เชิงปราชญ์ฉลาดกล่าวผู้   ปราชญ์รู้เชิงกัน ฯ

                  "ไก่เห็นตีนงู  งูเห็นนมไก่"  ทั้งสองฝ่ายต่างรู้ตื้นลึกหนาบาง หรือเล่ห์เหลี่ยมของกันและกันเป็นอย่างดี โดยที่คนอื่นไม่รู้ไม่เห็นด้วย
                  ทำนองเดียวกัน ในหมู่โจรย่อมรู้เล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงของโจรด้วยกัน  นักปราชญ์ก็รอบรู้ทันกันในเชิงปราชญ์
                

• เมียท่านพิศพ่างเพี้ยง  มารดา
ทรัพย์ท่านคืออิฐผา       กระเบื้อง
รักสัตว์อื่นอาตมา          เที่ยมเท่า กันแฮ
ตรองดังนี้จักเปลื้อง       ปลดพ้นสงสาร ฯ

                  อย่าคิดยุ่งเกี่ยวเชิงชู้สาวกับภรรยาของผู้อื่น ให้มองหญิงนั้นดังเช่นมองดูมารดาของตนเอง
                  ทรัพย์สินของคนอื่นก็ดี ให้มองดังเช่นอิฐ เช่นกระเบื้อง หาราคาไม่ได้  และให้มีความรักความเมตตา สงสารสัตว์ทั้งหลาย
                  เท่ากับเรารักชีวิตตนเอง  หากใครทำได้ดั่งนี้จักหลุดพ้นจากวัฏสงสาร  
                  น ปรํ นาปิ อตฺตานํ  วิหึสติ สมาหิโต
                  จงเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น ไม่เป็นผู้เบียดเบียนคนอื่น และแม้ที่สุดคือตนเอง                  



ภาพตัดต่อจาก : http://adventure.tourismthailand.org/thai & https://www story.kidszaa.com
• รู้น้อยว่ามากรู้      เริงใจ
กลกบเกิดอยู่ใน      สระจ้อย
ไป่เห็นชเลไกล       กลางสมุทร
ชมว่าน้ำบ่น้อย        มากล้ำลึกเหลือ ฯ
      เขาเรียกว่า...กบในกะลาครอบ

                  คนมีความรู้งูๆ ปลาๆ แต่สำคัญตนผิดคิดไปว่าตนเองเป็นผู้ฉลาดเฉลียว มีความรู้ สติปัญญามาก
                  อุปมากับ กบที่อาศัยอยู่ในสระหรือบ่อน้ำเล็กๆ ไม่เคยได้ไปเห็นทะเลหรือมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล
                  จึงหลงผิดคิดไปว่าสระน้ำที่ตนอาศัยช่างกว้างขวางใหญ่โตเสียจริงๆ


ภาพวาด อาจารย์เหม  เวชกร
• ฝูงหงส์หลงเข้าสู่        ฝูงกา
สีหราชเคียงโคนา          คลาดเคล้า
ม้าต้นระคนลา              เลวชาติ
นักปราชญ์พาลพาเต้า     สี่นี้ไฉนงาม ฯ
                  * กบสีทองสดใส เกาะอยู่บนก้านบัวสีเขียวหม่น...ปริศนาธรรม                    
                  ฝูงหงส์หลงเข้าไปอยู่กับฝูงกา  พญาราชสีห์เดินเคียงคู่กับโคไถนา  ม้าต้นของกษัตริย์เข้าไปปะปนกับฝูงลา
                  คนดีมีศีลมีธรรม หลงเข้าไปปะปนคบค้าสมาคมกับหมู่คนชั่ว  สี่สิ่งนี้ ท่านว่าหาความสง่างามมิได้เลย



     * บัวพ้นน้ำ.....ปริศนาธรรม
• ทองเหลืองเปลื้องร้ายห่อน    เห็นมี
ขัดเท่าขัดราคี                      เล่าไซร้
นพคุณหมดใสสี                   เสร็จโทษ
ถึงบ่แต่งตั้งไว้                      แจ่มแจ้งไพบูลย์ ฯ

                  ทองเหลืองแม้จะนำมาขัดถูอย่างไร ก็ไม่มีวันแวววาวระยิบระยับสดใสเท่าทองคำแท้
                  ทองคำแท้เมื่อได้ทำความสะอาดขัดสิ่งสกปรกออกแล้ว แม้มิได้นำมาประดับกาย ก็ยังคงความงดงามบริสุทธิ์ล้ำค่าไม่เสื่อมคลาย


จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุวรรณาราม เขตบางกองน้อย กรุงเทพมหานคร
ภาพจาก : http://kanchanapisek.or.t
• เนื้อปองน้ำหญ้าบ่    ปองทอง
ลิงบ่ปองรัตน์ปอง         ลูกไม้
หมูปองอสุจิของ          หอมห่อน ปองนา
คนเคลิบเคลิ้มบ้าใบ      ห่อนรู้ปองธรรม ฯ
  
                  สัตว์ป่าจำพวกเก้ง กวาง เนื้อทราย ต้องการแต่น้ำและหญ้า ไม่ปรารถนาอยากได้ทองคำ
                  ลิงก็ต้องการแต่ลูกไม้ ไม่ปรารถนาอยากได้แก้วแหวนอัญมณี   หมูก็ต้องการแต่ของบูดของเน่าเหม็น ไม่ต้องการของหอม
                  คนพาลสันดานบาป คนหลงมัวเมา ก็ชอบหนทางไปสู่ความทุกข์ความเดือดร้อน  ไม่ต้องการเป็นผู้ประพฤติธรรม



สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
• พริกเผ็ดใครให้เผ็ด      ฉันใด
หนามย่อมแหลมเองใคร   เสี้ยมให้
จันทน์กฤษณาไฉน         ใครอบ หอมฤา
วงศ์แห่งนักปราชญ์ได้      เพราะด้วยฉลาดเอง ฯ

                  พริกย่อมมีรสเผ็ดโดยคุณสมบัติของพริก  หนามแหลมก็แหลมเองโดยธรรมชาติ ไม่มีใครไปเสี้ยมให้แหลม
                  ไม้จันทร์ ไม้กฤษณา ก็หอมเองโดยไม่มีใครนำไปอบให้มีกลิ่นหอม  วงศ์วานของนักปราชญ์ ปัญญาเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ต้องมีใครไปสั่งสอน
 
กิมเล้ง:
.


กษัตริย์อชาตศัตรู ได้มิตรชั่ว คือพระเทวทัตชักจูง จับพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดาขังคุก
ให้อดพระกระยาหารจนสิ้นพระชนม์ พระราชาผู้เฒ่า “เสด็จเดินจงกรม” ไปมา
ยังชีพอยู่ได้ด้วย “พุทธานุสสติ” คือ มองลอดช่องหน้าต่าง ทอดพระเนตรดูพระพุทธองค์
เสด็จขึ้น-ลงเขาคิชฌกูฏ พร้อมภิกษุสงฆ์ทุกวัน เรียกว่าอยู่ได้ด้วยปีติโสมนัสโดยแท้
• จันทน์แห้งห่อนกลิ่นได้    ดรธาน
อ้อยหีบชานยังหวาน         โอชอ้อย
ช้างเข้าศึกเสียมสาร          ยกย่าง  งามนา
บัณฑิตแม้นทุกข์ร้อย         เท่ารื้อลืมธรรม ฯ
 
                    ไม้จันทน์แม้แห้งสนิทแล้ว ก็ยังคงกลิ่นหอมด้วยคุณสมบัติที่มีอยู่   อ้อยที่หีบน้ำหวานออกไปแล้วก็ตามรสหวานก็ยังติดอยู่ชานอ้อย
                    ช้างศึก เมื่อเข้าสู่สนามรบ กิริยาเยื้องย่างมีความสง่างาม  ดุจดังผู้มีปัญญาแม้ตกอยู่ในห้วงมหันตทุกข์ ก็สามารถใช้ธรรมะเข้ามาปลดเปลื้องทุกข์ได้ ฉะนั้น    
                     ...อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา
                    บัณฑิต ย่อมฝึกตน (ขุ.ธ.๒๕/๒๕)
                    แม้ตกอยู่ในห้วงแห่งมหันตทุกข์ ผู้ฝึกฝนตนดีแล้วย่อมรู้หน้าที่และไม่ละทิ้งธรรม...



• แมลงวันแสวงเสพด้วย   ลามก ๑
พาลชาติเสาะสิ่งรก           เรื่องร้าย ๑
ภุมราเห็จเหิรหก              หาบุษ บานา ๒
นักปราชญ์ฤาห่อนหม้าย     หมั่นสู้แสวงธรรมฯ ๓

                แมลงวันชอบกินของสกปรกเน่าเหม็น         คนชั่วชอบสร้างแต่เรื่องเดือดร้อนรำคาญ
                 แมลงผึ้งมุ่งแต่แสวงหาเสพเกสรพรรณไม้     ส่วนบุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ชอบมุ่งแสวงหาแต่โมกขธรรม.
                 ...บัวขาว ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ
                 บางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้... (๑)
                 บางเหล่า ตั้งอยู่เสมอน้ำ... (๒)
                 บางเหล่า ตั้งขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติด... (๓)
                  ...ดูกรราชกุมาร เมื่อตถาคตตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้น...      
                  พระพุทธองค์ทรงเปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า 'มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์'      



• รูปชั่วมักแต่งแกล้ง     เกลาทรง
ใจขลาดมักอาจอง         อวดสู้
น้ำพร่องกละออมคง       กระฉอก ฉานนา
เฉาโฉดโอษฐ์อวดรู้       ว่ารู้ใครเทียม ฯ

                     คนใดรูปร่างหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ มักแต่งตัวแต่งผมแต่งหน้าให้ดูดี   คนขี้ขลาดมักชอบอวดตัวว่ากล้าหาญ
                     หม้อน้ำพร่อง(น้ำไม่เต็ม) น้ำมักกระฉอก(กระเด็น)   ส่วน คนโง่เขลาเบาปัญญา มักอวดคุยโวว่าตนเองเป็นผู้ฉลาด กล้าหาญ รอบรู้  
                     น เว อนตฺถกุสเลน    อตฺถจริยา สุขาวหา
                     หาเปติ อตฺถํ ทุมฺเมโธ   กปิ อารามิโก ยถา.
                     การทำสิ่งใดอย่างไม่ฉลาดในประโยชน์ ก็นำความสุขมาให้ไม่ได้
                     ผู้มีปัญญาทรามย่อมพร่าประโยชน์ ดุจลิงเฝ้าสวนฉะนั้น.
                              (โพธิสตฺต) ขุ. ชา. เอก. ๒๗/๑๕.



ภาพวาดครูเหม เวชกร
• เว้นวิจารณ์ว่างเว้น     สดับฟัง
เว้นที่ถามอันยัง           ไป่รู้
เว้นเล่าลิขิตสัง            เกตว่าง เว้นนา
เว้นดั่งกล่าวว่าผู้           ปราชญ์ได้ฤามี ฯ
                  
                   ไม่ควรพูดจนเกินพอดี ไม่ควรนิ่งเสมอไป
                    เมื่อถึงเวลาก็ควรพูดพอประมาณ ไม่ฟั่นเฝือ
                     นา ติเวลํ ปภาเสยฺย นตุณหี สพฺพทา สิยา
                    อวิกิณฺ มิตํ วาจํ ปตฺเตกาเล อุทีริเย
                               ขุ.ชา.มหา.๒๘/๓๓๘



พระเทวทัต พระสงฆ์ที่ก่ออนันตริยกรรมคือพยายามลอบปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า
และก่อการสังฆเภท ทำให้คณะสงฆ์แตกแยกกัน
• รู้ธรรมเทียมเท่าผู้      ทรงไตร
เจนจัดอรรถภายใน        ลึกล้น
กล่าวแก้สิ่งสงสัย          เลอะเลื่อน
รสพระธรรมอั้นอ้น         ว่ารู้ใครชม ฯ

                 เป็นผู้รู้หลักธรรมพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง แต่เมื่อมีใครถามปัญหาธรรม
                 กลับไม่สามารถตอบให้เข้าหลักเหตุผลตามพระบรมพุทโธวาทได้ บุคคลเช่นนี้ ใครเล่าจักสรรเสริญ.
                 ยาวเทว อนตฺถาย ญตฺตํ พาลสฺส ชายติ
                 หนฺติ พาลสฺส สุกฺกํสํ มุทฺธํ อสฺส วิปาตยํ
                 ความรู้เกิดแก่คนพาล ก็เพียงเพื่อความฉิบหาย, มันทำสมองของเขาให้เขว, ย่อมฆ่าส่วนที่ขาวของคนพาลเสีย
                               พุทธศาสนสุภาษิต



     อย่าเกลือกกลั้วด้วยหมู่คนพาล
• คบคนผู้โฉดเคลิ้ม       อับผล
หญิงเคียดอย่าระคน       ร่วมห้อง
อย่าคบหมู่ทรชน           สอนยาก
บัณฑิตแม้ตกต้อง         โทษสู้สมาคม ฯ
                
                 คบกับคนโง่เขลาเบาปัญญา ย่อมไม่ได้รับประโยชน์....ผู้หญิงเจ้าโทสะ อย่านำมาเป็นภรรยา  
                  อย่าคบกับคนพาล เพราะเป็นผู้ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี....แต่เหล่าบัณฑิตเป็นผู้มีปัญญา แม้ต้องโทษได้รับความลำบาก ก็ยังเป็นผู้ควรคบหาอยู่นั่นเอง.
                   นิหียติ ปุริโส นิหีนเสวี
                   ผู้คบคนเลว     ย่อมพลอยเลวไปด้วย
                               พุทธศาสนสุภาษิต


• ขุนเขาสูงร้อยโยชน์    คณนา
ขุนปราบด้วยโยธา         ราบได้
จักล้างพยศสา             หัสยาก
ยศศักดิ์ให้เท่าให้          พยศนั้นฤๅหาย ฯ

                ขุนเขานับความสูงได้เป็นร้อยๆ โยชน์ (๔๐๐ เส้นเป็นหนึ่งโยชน์)  ก็ไม่พ้นความสามารถของคนที่จะทลายให้ราบคาบลงมาได้
                 แต่คนพาลสันดานหยาบ จักแก้นิสัยให้รู้ผิดชอบชั่วดีทำได้ยากแสนยาก แม้จะให้ยศถาบรรดาศักดิ์ใหญ่โตสักเพียงไร ก็ไม่อาจแก้ไขสันดานชั่วได้.
                 ยสฺส รุกฺขสฺส ฉายาย   นิสีเทยฺย สเยยฺย วา
                 น ตสฺส สาขํ ภญฺเชยฺย   มิตฺตทุพฺโภ หิ ปาปโก.
                 บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น
                 เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม
                               พุทธศาสนสุภาษิต
* การเสียกรุงครั้งที่ ๑
พระมหาธรรมราชาทรงเกลี้ยกล่อมพระยาจักรีให้เป็นไส้ศึก
เมื่อได้เวลาอันควร พระยาจักรีจึงให้สัญญาณแก่พม่าและเปิดประตูเมือง
ทำให้ทัพพม่าเข้ายึดพระนครสำเร็จ กรุงศรีอยุธยาจึงตกเป็นเมืองขึ้น
ของอาณาจักรพม่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๑๒



ชูชกไปทวงทอง สองผัวเมียที่รับฝากไม่มีจะให้
จำใจต้องยกอมิตตดา ธิดาสาวให้เป็นภริยา
ภาพเขียนของ ครูเหม  เวชกร
• อายุถึงร้อยขวบ        เจียรกาล
ธัมโมชอันโอฬาร          บ่รู้
เด็กน้อยเกิดประมาณ     วันหนึ่ง
เห็นถ่องธรรมยิ่งผู้         แก่ร้อยพรรษา ฯ

                 บุคคลเกิดมา มีอายุยืนถึง ๑๐๐ ปี แต่ไม่เคยแสวงหาธรรมเพื่อความหลุดพ้น
                   ...เด็กทารกที่เกิดมาเพียงวันเดียวแต่เป็นผู้เข้าถึงธรรม...ดังนี้แล้ว ท่านว่า เด็กทารกนั้นเป็นผู้ประเสริฐกว่าผู้มีอายุยืน ๑๐๐ ปี
                   โย จ วสฺสสตํ ชีเว ทุปฺปญฺโญ อสมาหิโต
                   เอกาหฺ ชีวิตํ เสยฺโย ปญฺญวนฺตสฺส ฌายิโน
                   ผู้ใดมีปัญญาทราม มีใจไม่มั่นคง พึงเป็นอยู่ตั้งร้อยปี
                   ส่วนผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ  มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวประเสริฐกว่า
                               พุทธศาสนสุภาษิต


• รักทรัพย์อย่ายิ่งด้วย   วิชา
สว่างอื่นเท่าสุริยา         ห่อนได้
ไฟใดยิ่งราคา             เพลิงราค ฤๅพ่อ
รักอื่นหมื่นแสนไซร้       อย่าสู้รักธรรม ฯ

                 ท่านว่า...ให้เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม อย่าประเมินค่าทรัพย์สมบัติภายนอกที่มีอยู่ ให้มากยิ่งกว่าทรัพย์ภายใน คือ "วิชา"
                  และให้คลายความกำหนัดยินดีในกามตัณหา เพราะความร้อนแห่งดวงอาทิตย์ ก็ไม่เท่ากับความร้อนแรงแห่งเพลิงราคะ ตัณหา
                   สงฺกปฺปราโค  ปุริสสฺส  กาโม
                   ความกำหนัดเพราะดำริ เป็นกามของคน
                               พุทธศาสนสุภาษิต




• มณฑกทำเทียบท้าว    ราชสีห์
แมวว่ากูพยัคฆี             แกว่นกล้า
นกจอกว่าฤทธี             กูยิ่ง ครุฑนา
คนประดาขุกมีข้า          ยิ่งนั้นแสนทวีฯ  

                 มณฑก(กบ) วางท่าดั่งตัวเป็นราชสีห์   ฝ่ายแมวทำทีว่าตัวเป็นเสือร้าย
                  นกกระจอกก็ว่าข้ามีฤทธิ์เดชยิ่งกว่าพญาครุฑ....คนยากจนเผอิญร่ำรวยไม่มาก ก็คุยว่ามีทรัพย์สมบัติล้นเหลือ  
                  "ตักน้ำใส่กระโหลกชะโงกดูเงา"
                  หมายความว่า อย่าลืมตน จงเป็นผู้เจียมตน
                               สุภาษิต-คำพังเพย



ภาพเขียน : ครูเหม  เวชกร

• แม้นบุญยังอย่าได้  ขวนขวาย
อย่าตื่นตีตนตาย        ก่อนไข้
ลูกพร้าวอยู่ถึงปลาย    สูงสุด ยอดนา
ใครพร่ำน้ำตักให้        หากรู้เต็มเอง ฯ
                  
                  ท่านว่า อย่ากังวลทุกข์ร้อนในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น
                   .เมื่อยังไม่ถึงเวลาบุญวาสนายังมาไม่ถึง ก็ไม่ต้องไปดิ้นรนไขว่คว้า  หรืออย่าตีตนไปก่อนไข้ ให้ทุกข์ใจไปเปล่าๆ  หากบุญพาวาสนาส่ง เราจักสมปรารถนาเอง
                   เปรียบดังเช่นลูกมะพร้าวอยู่ถึงปลายยอดสูงลิบลิ่ว ถึงเวลาอันควรน้ำในผลก็เต็มของมันเอง ไม่มีตักน้ำไปใส่ในผล
                   สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย
                   การสร้างสมความดี (บุญ) นำสุขมาให้
                        พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)



• สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ        ในตน
กินกัดเนื้อเหล็กจน             กร่อนขร้ำ
บาปเกิดแต่ตนคน              เป็นบาป
บาปย่อมทำโทษซ้ำ            ใส่ผู้บาปเอง ฯ

                  สนิมเหล็กเกิดจากเนื้อเหล็กที่ไม่มีคุณภาพ  ผลกรรมที่ทำให้ใจเศร้าหมอง มีทุกข์เดือดร้อน ก็มาจากผลแห่งกรรมชั่วของผู้ตัวนั้นนั่นเอง
                  ยาทิสํ วปเต พีชํ     ตาทิสํ ลภเต ผลํ
                  กลฺยาณการี กลฺยาณํ     ปาปการี จ ปาปกํ
                  บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น
                  ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว
                                พุทธศาสนสุภาษิต


  ภาพวาด ครูเหม เวชกร
• เหมหงส์เลี้ยงชีพด้วย        สาคร
ช้างพึ่งพนาดร             ป่าไม้
ภุมราบุษบากร             ครองร่าง ตนนา
นักปราชญ์เลี้ยงตัวได้     เพื่อด้วยปัญญา ฯ

                 หงส์ยังชีวิตอยู่ได้ด้วยแหล่งน้ำ     ช้างมีป่าดงพงไพรเป็นที่เลี้ยงชีพ
                  แมลงผึ้ง แมลงภู่อยู่ได้ด้วยบุษบากร (ดอกไม้)   บัณฑิตเอาตัวรอดได้เพราะมีปัญญา


 
ภาพวาด ครูเหม เวชกร
• หญิงชั่วชู้ชายรัก       ฤๅคลาด
เห็นบุรุษนักปราชญ์      เกลียดใกล้
แมลงวันย่อมเอาชาติ    อสุภ เน่านา
บ่เสาะกลิ่นดอกไม้       ดุจผึ้งภุมรา ฯ

                  ท่านว่า ผู้หญิงไม่ดี ย่อมชอบเอาผู้ชายไม่ดีมาเป็นคู่ครอง  ไม่อยากเข้าใกล้หรือเหลียวแลบุรุษนักปราชญ์ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
                  เปรียบดังแมลงวันชอบคลุกคลีกับของเน่าของเหม็น  ตรงข้ามกับหมู่แมลงผึ้งที่ชอบลิ้มรสเกสรอันหอมหวานของหมู่มวลดอกไม้ ฉะนั้นแล......คนประเภทเดียวกันถึงจะอยู่ร่วมกันได้!


 
ภาพวาด ครูเหม เวชกร
• มิตรพาลอย่าคบให้    สนิทนัก
พาลใช่มิตรอย่ามัก        กล่าวใกล้
ครั้นคราวเคียดคุมชัก      เอาโทษ ใส่นา
รู้เหตุสิ่งใดไซร้             ส่อสิ้นกลางสนาม ฯ

                  ท่านว่า ให้ระวังการคบคน  คนพาลไม่ใช่มิตรแท้ อย่าไปใกล้ชิดสนิทสนม
                  และเล่าความลับให้ฟัง  ถึงคราวเราเคราะห์ร้าย เขาขุ่นเคืองเรา ก็จะนำเราไปนินทาว่าร้าย
                  ความลับทั้งหลายที่เขาล่วงรู้จะถูกแฉจนหมดสิ้น ..



• หมาใดตัวร้ายขบ      บาทา
อย่าขบตอบต่อหมา      อย่าขึ้ง
ทรชนชาติช่วงทา -      รุณโทษ
อย่าโกรธอย่าหน้าบึ้ง     ตอบถ้อยถือความ ฯ

                  ท่านว่า หมากัดอย่ากัดตอบ - อย่าลดตัวลงไปต่อสู้หรือต่อปากต่อคำกับคนพาลหรือคนที่มีศักดิ์ต่ำกว่า.
                  ผู้ใดถูกสุนัขที่มีนิสัยดุร้าย ฝึกฝนยาก ขบกัด จงให้อภัยหมานั้นอย่าไปเคียดแค้นทำร้ายทุบตี
                  เฉกเช่นเดียวกัน ควรให้อภัย อย่าได้โกรธขึ้ง ถือสาหาความกับอสัตบุรุษผู้ไม่มีศีล ที่รังแกเรา..


 
• ลูกสะเดาน้ำผึ้งซาบ   โซมปน
แล้วปลูกปองรสคนธ์     แอบอ้อย
ตราบเท่าออกดอกผล    พวงดก
ขมแห่งสะเดาน้อย        หนึ่งรู้โรยรา ฯ

                 นำลูกสะเดาไปแช่น้ำผึ้งจนรสหวานซึมซาบทั่วผล 
                 นำผลนั้นไปปลูกไว้ในไร่อ้อย ด้วยหวังจะได้รสหวานจากอ้อยอีกทางหนึ่ง
                 กาลเวลาผันผ่าน สะเดาน้อยเติบใหญ่ ออกดอกให้ผล
                 รสขมของลูกสะเดาต้นนี้ ก็หาได้จืดจางไปแต่อย่างใดไม่ 
                 เปรียบเช่น คนพาลปฏิบัติธรรม ย่อมไม่รู้อรรถรู้ธรรม นั่นแล.


 
ภาพเขียนโดย ครูเหม เวชกร
• กายเกิดพยาธิโรคร้าย   ยาหาย
แต่พยศยาไป่วาย           ตราบม้วย
ชาติเสือห่อนหายลาย      ลบผ่อง
กล้วยก็กล้วยคงกล้วย      กลับกล้ายฤามี ฯ

               อุปมาอุปไมย - "สันดรขุดง่าย สันดานขุดยาก"
               กายมีโรคภัยเบียดเบียน รักษาให้หายได้โดยใช้ยารักษาโรค
               แต่พยศ ของผู้มีทิฐิดื้อรั้นถือตัว ให้การอบรมหวังว่าเขาจะเปลี่ยนอุปนิสัย ตราบจนตาย หวังได้ยาก
               เสือ ย่อมมีสัญชาตญาณของความองอาจ ดุร้าย แม้ที่สุดจนตัวตายก็ยังคงน่าเกรงขาม
               กล้วย นำพันธุ์ไปปลูกที่ไหนๆ ก็ยังสืบสายพันธุ์เป็นกล้วย  ไม่กลับกลายเป็นกล้ายไปได้แน่นอน.
               (กล้าย ลักษณะจะคล้ายกับพืชในสกุลกล้วยทั่วไป แต่ผลกล้ายจะแข็งและมีน้ำตาลน้อยกว่ากล้วย)


ภาพวาดโดย ครูเหม เวชกร
• มีอายุอยู่ร้อย            ปีปลาย
ความเกิดและความตาย   ไป่รู้
วันเดียวเด็กหญิงชาย      เห็นเกิด ตายนา
ลูกอ่อนนั่นยิ่งผู้             แก่ร้อยปีปลายฯ

               - บุคคลเกิดมามีอายุอยู่เกือบร้อยปี เป็นผู้ไม่สนใจหลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนา เพื่อดำเนินไปสู่หนทางแห่งความดับทุกข์
                  มัวแต่หลงระเริงในกามสุข ยึดติดในใจด้วยอำนาจกิเลส
               - เด็กทารกที่เกิดมาแม้มีอายุวันเดียว แต่เป็นผู้เข้าถึงกระแสธรรม
                  พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญเด็กนั้นว่า ประเสริฐกว่าคนมีอายุยืนร้อยปี.                   
 
กิมเล้ง:
.


• ธิรางค์รู้ธรรมแม้่     มากหลาย
บ่กล่าวให้หญิงชาย     ทั่วรู้
ดุจหญิงสกลกาย       งามเลิศ
อยู่ร่วมเรือนผัวผู้        โหดแท้ขันที ฯ

               * บุคคลผู้รู้แจ้งในพระธรรมอันประเสริฐ แต่มิได้นำความจริงหรือสัจธรรมมาเผยแผ่ให้ผู้อื่นได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอน
                  ความรู้ที่มีอยู่นั้นก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก...เปรียบเช่น หญิงที่มีรูปโฉมงดงามทั่วสรรพางค์กาย
                  ได้อยู่เป็นคู่ครองกับขันทีผู้ปราศจากความรู้สึกทางเพศ...การอยู่ร่วมกัน ย่อมไร้ความสุข.


  ภาพวาด ครูเหม เวชกร
• จระเข้คับน่านน้ำ    ไฉนหา ภักษ์เฮย
รถใหญ่กว่ารัถยา      ยากแท้
เสือใหญ่กว่าวนา      ไฉนอยู่ ได้แฮ
เรือเขื่องคับชเลแล้    แล่นโล้ไปไฉน

               * อุปมา จระเข้คับคลอง การทะนงตน อวดตัวใหญ่โตเกินอัตภาพฐานะ
                  ย่อมมีลักษณะยกตนข่มผู้อื่นเนืองๆ มองไม่เห็นใครดีหรือสำคัญกว่าตนเอง
                  บุคคลเช่นนี้ ย่อมพบอุปสรรคหรือได้รับความลำบากยากเข็ญในการดำรงชีวิตในสังคม.
                

  ภาพวาด ครูเหม เวชกร

• พระสมุทรไหวหวาดห้วย    คลองสรวล
เมรุพลวกปลวกสำรวล         ร่าเร้า
สีหราชร่ำคร่ำครวญ            สุนัขเยาะ หยันนา
สุริยส่องยามเย็นเข้า           หิ่งห้อยยินดีฯ

               * ไม้ล้มข้ามได้ คนล้มอย่าข้าม
                  เคยมีอำนาจ วาสนา มาก่อน ถึงคราวตกต่ำลง ถูกหัวเราะเยาะหยัน ดูหมิ่นเหยียบย่ำจากผู้ที่ต่ำต้อยกว่า
                  โดยไม่ได้คำนึงว่า เขายังมี "บารมี" อยู่อีกมากล้น
                  เหมือนช้างตกหล่ม ที่อาจถอนตนขึ้นจากหล่มได้ฉะนั้น.

                
  ภาพวาด ครูเหม เวชกร

• แมวล่าหนูแซ่ซี้     จรจรัล
หมาล่าวิฬาร์ผัน        สู่หล้าง
ครูล่าศิษย์ละธรรม์     คบเพื่อน พาลนา
เสือล่าป่าแรมร้าง      หมดไม้ไพรณฑ์

               *  อุปมา - แมวไม่อยู่หนูร่าเริง
                   การถูกควบคุมบังคับโดยผู้มีอำนาจมากกว่า ย่อมทำให้ผู้คนรู้สึกลบหรือต่อต้านขึ้นมาในใจทันที เพราะไม่ชอบการถูกบังคับ
                   เมื่อมีโอกาสหรือลับหลังเมื่อใด ย่อมไม่สามารถจะควบคุมตัวเองไว้ได้ จึงมีแต่เรื่องของการตามใจตัวเองให้ปล่อยไปตามอารมณ์
                   ตามอำนาจของสิ่งแวดล้อม อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความวุ่นวายและเสื่อมเสีย

                   อธิบายศัพท์
                   ล่า         ถอย ไม่อยู่ จากไป ทิ้งไป
                   แซ่ซี้       ส่งเสียงดัง
                   จรจรัล     เที่ยวไป เดินกันขวักไขว่
                   สู่หล้าง    ลงไปข้างล่าง ลงไปใต้ถุนบ้าน              


  ภาพวาด ครูเหม เวชกร

• จามรีขนข้องอยู่     หยุดปลด
ชีพบ่รักรักยศ           ยิ่งไซร้
สัตว์โลกซึ่งสมมติ      มีชาติ
ดูเยี่ยงสัตว์นั้นได้       ยศซ้องสรรเสริญฯ


                  จามรีเป็นสัตว์ที่มีขนหางละเอียดอ่อน ยาวเป็นพู่ มีธรรมชาตินิสัยรักหวงแหนขนที่หางของมันยิ่งชีวิต
                   หากขนหางไปติดกับอะไรก็จะค่อยขยับให้ขนหางหลุดจากสิ่งนั้น
                   พิจารณาโดยอรรถ...เป็นการสอนมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐ ให้เป็นผู้ "มีสติ" รู้รักตน รู้จักใช้ปัญญาเป็นแสงสว่าง
                   มีเหตุผล รู้ผิด รู้ดี รู้ชั่ว คำนึงถึงชื่อเสียงเกียรติยศของตนและวงศ์ตระกูล

                  ความดีเป็น “อิสริยยศ” ของคนดี  และคนดีย่อมพอใจประดับความดีเป็นอาภรณ์ของตน
                   จึงควรมีสติ มุ่งเอาชนะจิตใจที่ใฝ่ชั่วของตน และเอาชนะเหตุการณ์แวดล้อมที่จะมาเป็นอุปสรรคแห่งความดี                  


 .
  ภาพวาด ครูเหม เวชกร

• นพคุณใส่เบ้าสูบ    แสนที
ค้อนเหล็กรุมรันตี      ห่อนม้วย
บ่เจ็บเท่าธุลี           สักหยาด
เจ็บแต่ท่านชั่งด้วย    กล่ำน้อยหัวดำฯ


         อธิบายความ
         เอาค้อนเหล็กทุบทีทองคำในเบ้าหลอมนับแสนๆ ที ไม่ทำให้ทองนพคุณมีความรู้สึกเจ็บแม้เท่าเศษธุลี
         แต่เจ็บปวดนักถ้านำเมล็ดมะกล่ำหัวดำที่ไร้ค่า มาชั่งน้ำหนักตีราคาเทียบกับทองคำ

         ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่หรือผู้เกิดในตระกูลสูงส่ง แม้จะถูกลงโทษอย่างโหดร้ายทารุณเจ็บปวดเจียนตาย
         ก็ไม่รู้สึกโกรธแค้นเสียใจเท่ากับการถูกตีค่าของตนให้เสมอกับไพร่กระฏุมพี หรือคนชั้นต่ำ
         อุปมา “นักเลงถูกลูบคม”  เป็นเรื่องของความรู้สึกว่าเกียรติหรือศักดิ์ศรีของตนด้อยลงไป

         .....อนฺธตมํ ตทา โหติ ยํ โกโธ สหเต นรํ...
         ความโกรธครอบงำนรชนเมื่อใด ความมืดมนย่อมมีเมื่อนั้น.                  

                

 
ชูชกพราหมณ์เข้าเฝ้าพระเวสสันดรทูลขอพระปิโยรส ‘กัณหา-ชาลี’ ก็ทรงประทานให้
ทรงกันแสง เมื่อชูชกใช้อำนาจเฆี่ยนตีสองพระกุมารให้เดินทางไปกับตน
(จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง)

• เสียสินสงวนศักดิ์ไว้   วงศ์หงส์
เสียศักดิ์สู้ประสงค์        สิ่งรู้
เสียรู้เร่งดำรง              ความสัตย์ ไว้นา
เสียสัตย์อย่าเสียสู้         ชีพม้วยมรณา ฯ 

         อธิบายความ
         -เสียสินทรัพย์ เพื่อสงวนเกียรติอันสูงศักดิ์ของวงศ์ตระกูลมิให้มัวหมอง
         -ลดศักดิ์ศรีเพื่อแลกวิชาความรู้ ให้ได้ปัญญาจากผู้รู้ที่ต่ำต้อยกว่า
         -รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ต่อกันไว้  แม้จะเสียรู้ด้วยกลลวง
         -รักษาสัจจะวาจา ด้วยความหนักแน่นยิ่งกว่าชีวิตของตน …ยอมสละชีวิตแต่อย่ายอมเสียสัตย์ฯ
          (๔ ประการนี้ เป็นสิ่งพึงกระทำ)

        อุปมา ‘ธรรมบท’ บทหนึ่งที่สอนว่า                   
         ธนํ จเช องฺควรสฺส เหตุ 
         องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน
         องฺคํ ธนํ ชีวิตญจฺาปิ สพฺพํ จเช นโร ธมฺมมนุสฺสรนฺโต
         พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ
         พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต 
         พึงสละทรัพย์และชีวิตเพื่อรักษาธรรม

               
ขอเชิญร่วมอธิบายความตามโครงโลกนิติ เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา
 และแก้ไขสิ่งที่ผู้โพสต์อาจตีความคลาดเคลื่อน  เผยแพร่แก่ผู้สนใจต่อไป
กิมเล้ง:
.

 


• ตัดจันทน์ฟันม่วงไม้     จัมบก
แปลงปลูกหนามรามรก     รอบเรื้อ
ฆ่าหงส์มยุรนก              กระเหว่า เสียนา
เลี้ยงหมู่กากินเนื้อ          ว่ารู้ลีลา ฯ

         อธิบายความ
         - ตัดต้นจันทน์ มะม่วง และจัมบก (ต้นจำปา)...พรรณไม้มีค่าทิ้ง
         ใช้พื้นที่ปลูกวัชพืช ที่ไร้ประโยชน์และรกเรื้อแทน
         - ฆ่าพญาหงส์  นกยูง สัตว์ตระกูลสูง สัญลักษณ์ของความมีเสน่ห์และงามสง่า
         และฆ่านกกาเหว่า เพื่อเอาเนื้อไปเลี้ยงหมู่กา สัตว์กินเนื้อ
         - โดยหวังว่า กาจะมีลีลารำแพนหางกรีดกรายไปมาได้สวยงามเยี่ยงนกยูง
         และส่งเสียงร้องอันไพเราะได้เช่นเดียวกับนกกาเหว่า
      

        ‘ธรรมบท’ สอนว่า                  
        ปาปมิตฺเต วิวชฺเชตฺวา        ภเชยฺยุตฺตมปุคฺคเล
        โอวาเท จสฺส ติฏฺเฐยฺย       ปตฺเถนฺโต อจลํ สุขํ.

        ผู้ปรารถนาความสุขที่มั่นคง พึงละเว้นมิตรชั่วเสีย
        คบแต่บุคคลสูงสุด และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน.
                                               ขุ. เถร. ๒๖/๓๐๙.

                
ขอเชิญร่วมอธิบายความตามโครงโลกนิติ เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา
 และแก้ไขสิ่งที่ผู้โพสต์อาจตีความคลาดเคลื่อน  เผยแพร่แก่ผู้สนใจต่อไป
......
 
 
 




                         







ที่มา วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4



https://sites.google.com/site/kholnglokniti/kholng-lok/kha-sxn-ni-kholng-lok-niti



http://www.kaweeclub.com/b35/t383/?wap2



http://www.thaipoem.com/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%99/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93/122883

4 ความคิดเห็น:

  1. จระเข้คับน่านน้ำ ไฉนหา ภักษ์ฮย
    รถใหญ่กว่ารัถยา ยากเเท้
    เสือใหญ่กว่าวนา ไฉนอยู่ ได้เเฮ
    เรือเขื่องคับชเลเเล้ เเล่นโล้ไปไฉน

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ยังทันรึเปล่าจ้ะ
      ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอะไรแต่ลองปรึกษากับรุ่นพี่ที่ชอบโคลงแล้วน่าจะแปลว่า

      จระเข้ตัวใหญ่โตคับแม่น้ำย่อมหาอาหารไม่สะดวก รถที่ใหญ่กว่าถนนเสือตัวโตกว่าป่า เรือลำใหญ่คับทะเลเหล่านี้ย่อมยากต่อการดำรงอยู่
      สำนวนนี้ เปรียบได้กับคนที่ใช้อำนาจเกินหน้าที่ของตัว...ทำให้ตัวเองลำบาก และคนอื่นวุ่นวายใจ อีกอย่างคนโลภมากไม่รู้จักพอย่อมหาทรัพย์ในทางที่ผิด..ทำให้คนอื่นเดีอดร้อน สุดท้ายก็ทำตัวให้ตกต่ำฉิบหาย เพราะความไม่รู้จักพอ // ศูนย์ปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดหนองคาย แห่งที่ ๓

      ลบ
  2. ช่วยเเปลหน่อยค่ะ พรุ้งนี้ส่งงาน

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอโทษด้วยค่ะไม่ได้เข้ามาเล่นหลายวันเลย ><

      ลบ